“ศักดิ์สยาม” เตรียมตั้งคณะทำงานฯ ติดตามเร่งรัดโครงการมูลค่าเกิน 1 พันล้าน แก้ปัญหาล่าช้า ทาบ “ชัยวัฒน์” หัวหน้าทีม ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนปี 64 ภายใต้กรอบงบรายจ่าย 2.3 แสนล้าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีการลงทุนโครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตนได้ติดตามการทำงานทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและโครงการที่เตรียมเสนอขออนุมัติเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคมาโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความคืบหน้าทุกเดือนแต่ยังพบว่ามีปัญหาอุปสรรค ข้อติดขัดหลายประเด็น รวมถึงได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเข้ามา
ดังนั้น ตนจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อช่วยติดตามเร่งรัด แก้ปัญหาโครงการลงทุนของกระทรวงคมนาคม โดย จะเริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค. 63 หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 ซึ่งได้ทาบทามนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ที่จะเกษียณอายุราชการมาเป็นประธานคณะทำงานฯ เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในงานของกระทรวงคมนาคมและการบูรณาการระบบโลจิสติกส์ ส่วนคณะทำงานจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเกษียณอายุในปีนี้หลายคนที่เป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์
“หน่วยงานที่มีงบประมาณลงทุนหลักๆ ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและรัฐวิสาหกิจ หลายแห่งก็มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่เช่นกัน ที่ผ่านมาผมติดตามงานทุกเดือน แต่มีการรายงานสรุปความก้าวหน้าเป็นภาพรวม เป็นตัวเลขเฉลี่ย แต่ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด ซึ่งจะมีงานย่อยๆ ที่มีปัญหาติดขัดล่าช้า คณะทำงานฯ จะช่วยดูตรงนี้และหาทางแก้ไขให้จบตั้งแต่ต้น เพื่อไม่ต้องไปตามแก้ไขในภายหลังเพราะจะแก้ได้ยาก”
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในปี 2564 จะผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ที่จะเน้นรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) โดยโครงการได้เสนอไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ได้แก่ รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท
และที่กำลังเร่งสรุปข้อมูล เพื่อเสนอ ครม.คือ มอเตอร์เวย์ (M82) ช่วงต่อขยาย เอกชัย-บ้านแพ้ว วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดย ทล.จะใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ก่อสร้าง, มอเตอร์เวย์ (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท อยู่ระหว่างเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน
นอกจากนี้ จะผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาท
ส่วนการคมนาคมขนส่งทางอากาศนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า แผนพัฒนาศักยภาพอาจจะยังไม่บูรณาการเท่าที่ควร ทำให้การไปสู่เป้าหมาย หรือ Action Plan ยังไม่ชัดเจน จึงอยากให้ทำแผนและวิธีการปฎิบัติอย่างละเอียด เพราะสนามบินนั้นเป็นประตูใหญ่ของประเทศ หากมีศักยภาพ มีความพร้อม จะช่วยด้านเศรษฐกิจของประเทศได้มาก หลังจากนี้จะต้องนำมาแผนมาบูรณาการและทำAction Plan ร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ของกรรมาธิการนั้น กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 231,924.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.64% เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2563