xs
xsm
sm
md
lg

กขค.โชว์บทบาทที่พึ่งทางธุรกิจ สร้างความเป็นธรรมการค้า-ป้องกันการผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 2560 และได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ ไม่เป็นส่วนราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานใด และได้เริ่มทำงานตามกฎหมายมาจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาประมาณ 2 ปี 8 เดือน ซึ่งถือว่าทำงานมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และหลายๆ คนคงอยากทราบว่าหน่วยงานอิสระน้องใหม่นี้ทำงานและมีผลงานอะไรเกิดขึ้นบ้าง

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ได้ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะมาเป็นองค์กรอิสระต้องผ่านปัญหาและอุปสรรคอะไรมาบ้าง มีผลการทำงานหลังจากเป็นองค์กรอิสระแล้วเป็นอย่างไร และทิศทางที่จะเดินต่อในอนาคต

ทำไมต้องเป็นองค์กรอิสระ

นายสันติชัยเล่าให้ฟังว่า เดิมทีหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นสำนักหนึ่งในกรมการค้าภายใน ตอนนั้นในการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มีปัญหา มีข้อจำกัด ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นรัฐมนตรี มาจากฝ่ายการเมือง กรรมการก็มาโดยตำแหน่งจากภาคเอกชน มาจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การเรียกประชุมอยู่ที่ประธาน ถ้าช่วงไหนการเมืองยุ่ง ไม่มีการประชุม อย่างเก่งปีละ 1-2 ครั้ง ทำให้กฎหมายบังคับใช้ไม่ได้

นั่นหมายความว่า ความเป็นอิสระขององค์กรไม่มี เพราะเป็นหน่วยงานหนึ่งในกรมการค้าภายใน งานทุกอย่างไม่สามารถเป็นงานเฉพาะได้ วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ก็ไปทำงานอื่น ช่วงผลไม้แพง ราคาไม่ดี ก็ไปขายผลไม้ ช่วงไหนของแพงก็ไปขายของ ความเชี่ยวชาญเฉพาะไม่มี ทำให้มีปัญหา จึงเป็นที่มาของแนวคิดปรับกฎหมายใหม่ ดูหลักกฎหมายของต่างประเทศ ก็เป็นหน่วยงานอิสระ หลังมี สนช.ก็ปรับแก้กฎหมายใหม่ แยกเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ใต้กระทรวง ทบวง กรมใดๆ

เพิ่มอำนาจทางกฎหมายมากขึ้น

ไม่เพียงแค่นั้น ยังได้ปรับแก้กฎหมายใหม่ เดิมรัฐวิสาหกิจไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย ก็ปรับให้มาอยู่ใต้กฎหมาย เพราะเอกชนบ่นไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่าง ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจแล้วทำธุรกิจแข่งขันเอกชน ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมาย ยกเว้นทำตามนโยบายรัฐบาล หรือมติ ครม.

นอกจากนี้ ยังปรับให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจลงโทษทางอาญา หรือทางปกครองได้ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้คดีต่างๆ ยุติได้เร็ว จากกฎหมายเดิมเป็นโทษทางอาญา ต้องไปที่ศาล เราพิจารณาเสร็จ ตัดสินแล้ว ก็ต้องส่งไปศาล และในอดีตไม่เคยมีคดีไปถึงศาล มีคดีเดียวส่งไปอัยการให้พิจารณาสั่งฟ้อง ส่งไปจนเกือบครบ 10 ปี ตีกลับ หลักฐานไม่สมบูรณ์

ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มอำนาจสั่งการให้ธุรกิจหยุดการกระทำ หยุดพฤติกรรมกรณีมีคนร้องถูกรังแก ถูกเอาเปรียบ โดยสั่งให้หยุดก่อนได้เลย เพื่อเยียวยา บรรเทาความเสียหาย เพื่อไม่ให้ขยายวงกว้าง ยกตัวอย่างกรณีนิสสัน ที่มีดีลเลอร์มาร้อง จะลดจำนวน คณะกรรมการฯ ดูแล้ว และคิดว่าอาจเชื่อได้ว่าเป็นการทำธุรกิจไม่เป็นธรรม ก็สั่งให้ระงับไว้ก่อน

ผลงาน 2 ปี 8 เดือนมากกว่า 18 ปี

เมื่อองค์กรจัดตั้งตามกฎหมายวันที่ 5 ต.ค. 2560 กว่าจะมีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ก็ใช้เวลาระยะหนึ่ง มาทำงานกันจริงๆ วันที่ 2 ม.ค. 2562 สิ่งที่ต้องทำ ต้องเร่งรัด ก็คือ คดีร้องเรียนต่างๆ ที่ค้างอยู่ 10 เรื่องจากกฎหมายฉบับเก่า ต้องทำต่อให้จบ ขณะนี้ได้พิจารณาเสร็จแล้ว 2 เรื่อง คือ กรณี M150 ใช้อำนาจเหนือตลาด โดยได้เปรียบเทียบปรับทางอาญาไปแล้ว และกรณีห้างค้าปลีกร้องเรียน และได้ยุติเรื่องส่งอัยการ 5 เรื่อง สอบสวนเพิ่มเติม 3 เรื่อง คือ การทำธุรกิจโรงน้ำแข็ง การกีดกันคู่แข่งในธุรกิจจำหน่ายที่นอน และการกีดกันการทำธุรกิจคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ ถ้าดูตามสถิติ จะเห็นได้ว่า 18 ปีที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดิมมีเรื่องร้องเรียน 102 เรื่อง ตกปีละ 5-6 เรื่อง มีผลการดำเนินการ คือ ยุติเรื่องไปแล้ว 92 เรื่อง และในจำนวนนี้ส่งสำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง 1 เรื่อง และเหลือเรื่องที่ค้างอยู่ 10 เรื่องตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยเหลือที่ต้องพิจารณาจริงๆ อีกแค่ 3 เรื่อง หากพิจารณาเสร็จก็จะไม่มีเรื่องคงค้างจากกฎหมายฉบับเดิม ถ้าเทียบกับกฎหมายใหม่ ตั้งแต่ต.ค. 2560-ก.ค. 2563 รวม 2 ปี 8 เดือน มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งสิ้น 53 เรื่อง หรือเฉลี่ยปีละ 18 เรื่อง ในจำนวนนี้ได้สั่งยุติเรื่องไปแล้ว 30 ราย ลงโทษปรับทางปกครอง 2 เรื่อง คือ การขนถ่ายสินค้าผ่านแดน และการใช้อำนาจที่เหนือกว่าบังคับไม่ให้ซื้อสินค้าเกษตร ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน 5 เรื่อง ส่งคณะอนุกรรมการทางปกครองพิจารณา 11 เรื่อง และแสวงหาข้อเท็จจริง 5 เรื่อง

“คนร้องเรียนเพิ่ม ตีความได้ว่าคนเชื่อมั่นมากขึ้น ร้องแล้วได้ผล ทำให้แก้ปัญหาได้ เมื่อก่อนร้องแล้วเงียบ เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนของการเข้ามาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ เราภูมิใจที่สร้างความแตกต่าง คณะกรรมการฯ ประชุมกันทุกอาทิตย์ เร่งรัดคดีทุกเรื่องที่ร้องเข้ามา” นายสันติชัยกล่าว

อนุญาตการควบรวมธุรกิจ

นายสันติชัยกล่าวว่า อีกผลงานหนึ่งที่คณะกรรมการฯ ทำสำเร็จ ก็คือ การอนุญาตให้ทำการควบรวมธุรกิจ เพราะตามกฎหมายถ้ามีการควบรวมแล้วกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ก็ต้องขออนุญาต ซึ่งได้อนุญาตให้บริษัทชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นทำการควบรวม 1 ราย เพราะไม่มีผลต่อการแข่งขันในตลาด และดำเนินการลงโทษปรับทางปกครอง 2 ราย เพราะควบรวมแล้วไม่แจ้งตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

คลอดไกด์ไลน์กำกับดูแลธุรกิจ

สำหรับผลการทำงานที่เรียกได้ว่าเป็นการปรับรูปแบบการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจครั้งใหญ่ ก็คือ การจัดทำแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือไกด์ไลน์ เพื่อดูแลการประกอบธุรกิจที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ โดยเลือกมาทำก่อน ตอนนี้ทำออกมาสำเร็จแล้ว 3 ไกด์ไลน์

โดยไกด์ไลน์ค้าปลีก เป็นฉบับแรก เพราะมีการร้องเรียนเข้ามาบ่อยๆ มีการคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่เป็นธรรม ค่าส่งเสริมการขาย การเรียกคืนสินค้า เลยเอามาอยู่ในไกด์ไลน์ เป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่เอาเปรียบผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายสินค้า

ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่มีคนร้องเข้ามาพอสมควร หลังจากซื้อไปแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เอาเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ มาเขียนเป็นกฎ กติกาให้ชัด อะไรไม่ควรทำ เช่น ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว วันดีคืนดีมาเปิดร้านแข่ง หากไม่ได้รับความยินยอมจากร้านเดิมก็ทำไม่ได้ หรือการจำกัดสิทธิ์เกินจำเป็น เช่น บังคับให้ซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ก็ทำไม่ได้

ส่วนฉบับที่ 3 ไกด์ไลน์ธุรกิจการรับซื้อผลไม้ อยู่ระหว่างการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เป็นเรื่องของการกำหนดเงื่อนไขที่ห้ามทำ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาระหว่างผู้รับซื้อผลไม้ (ล้ง) กับเกษตรกรเกิดขึ้น และได้รับร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่าถูกเอาเปรียบ ก็เลยทำเป็นแนวปฏิบัติขึ้นมา ถ้าบังคับใช้แล้ว ใครทำผิดก็จะถูกจัดการ

เตรียมทำเพิ่มไกด์ไลน์ฟูดดีลิเวอรี

นายสันติชัยกล่าวว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจรับยุค New Normal อย่างธุรกิจรับส่งอาหาร ที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการรับคำสั่งซื้อ และจัดส่งอาหารให้แก่ผู้ซื้อ หรือที่เรียกกันว่า ฟูดดีลิเวอรี คณะกรรมการฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหา และได้เข้าไปกำกับดูแล โดยได้เชิญแพลตฟอร์มผู้ให้บริการรับส่งอาหาร รวมถึงร้านอาหารต่างๆ มาหารือว่าจะจัดทำแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกิจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบในการทำธุรกิจ โดยได้หารือกันไปแล้ว และขณะนี้ได้ยกร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หรือไกด์ไลน์ฟูดดีลิเวอรี ออกมาแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ถ้าฟังความเห็นเสร็จจะนำมาปรับปรุง ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาและออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ ไกด์ไลน์ฟูดดีลิเวอรีได้กำหนดเงื่อนไขที่ห้ามทำเบื้องต้น ได้แก่ ห้ามเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม, ห้ามกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม, ห้ามใช้อำนาจเหนือตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม และห้ามปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย

ลงพื้นที่ 76 จังหวัดสอนคนรู้กฎหมาย

ในด้านการส่งเสริมและทำให้คนไทย ผู้ประกอบธุรกิจ มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า นายสันติชัยกล่าวว่า ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยที่ผ่านมาได้เดินสายลงพื้นที่ไปให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดอบรม สัมมนา ให้ความรู้ ซึ่งได้ทำครบทุกจังหวัดแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ เช่น โออีซีดี, อังค์ถัด และองค์กรที่กำกับดูแลการแข่งขันของยุโรปและญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย แนวทางการสืบสวนสอบสวน และการวิจัยธุรกิจที่ต่างชาติมองว่าจะเป็นปัญหามีการผูกขาด เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานของคณะกรรมการฯ

กางแผนทำงานครึ่งหลังปี 2563

นายสันติชัยกล่าวว่า สำหรับแผนการทำงานในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะเร่งรัดการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ละกรณีต้องไม่เกิน 1 ปีต้องเสร็จ เพื่อไม่ให้งานค้าง และต้องเป็นที่พึ่งให้กับภาคธุรกิจ และยังมีแผนร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจโดยเฉพาะ เช่น กสทช. กรมการบินพลเรือน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อร่วมกันทำงานไม่ให้ซ้ำซ้อน และมีแผนจะทำ MOU กับสถาบันการศึกษา เพื่อให้เด็กมีพื้นฐานความรู้เรื่องกฎหมายแข่งขันทางการค้า

นอกจากนี้ จะสร้างฐานข้อมูลการดูแลธุรกิจ โดยจะจัดตั้ง Business Intelligence Unit เข้ามาทำหน้าที่ดูแลและเตือนภัยธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย โดยใช้เทคโนโลยี มีข้อมูลบิ๊กดาต้ามาร่วมวิเคราะห์ เบื้องต้นกำหนดไว้ 6 สินค้าและบริการ คือ ผงชูรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปุ๋ยเคมี รถจักรยานยนต์ โรงพยาบาลเอกชน และแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ เพราะสินค้าและบริการเหล่านี้ โครงสร้างตลาด มีผู้ผลิต ผู้ขายน้อยราย และมีบางรายเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงต้องมีการติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเป็นลำดับแรก จากนั้นจะเพิ่มรายการสินค้าและบริการที่ต้องติดตามเพิ่มเติมต่อไป

ขณะเดียวกัน มีเป้าหมายที่จะจัดทำศูนย์ข้อมูลกฎหมายการแข่งขันของทุกประเทศในอาเซียน เพื่อให้นักธุรกิจของไทยที่ประสงค์จะเข้าไปลงทุนในอาเซียนได้ศึกษา และสามารถมาปรึกษาและตรวจสอบข้อมูลได้ที่สำนักงานฯ มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ เพื่อให้รู้กฎหมายก่อนที่จะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ เพราะดีกว่าไม่รู้แล้วเข้าไปทำ อาจจะเสี่ยงทำผิดกฎหมายได้

ทางด้านการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และการปฏิบัติตามกฎหมาย จะยังคงทำต่อ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการ เพราะหากทำให้ทุกคนเข้าใจกฎหมาย และไม่กระทำผิดกฎหมาย ลดการผูกขาดในการทำธุรกิจ ลดการจำกัดการแข่งขัน ก็จะทำให้ธุรกิจมีการแข่งขัน มีการช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต


กำลังโหลดความคิดเห็น