รัฐมนตรีการค้าเอเปกออกแถลงการณ์รับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ย้ำการใช้มาตรการทางการค้า ต้องเหมาะสม โปร่งใส สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ WTO และไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า โดยเฉพาะสินค้าเวชภัณฑ์และอาหารที่มีความจำเป็น พร้อมเดินหน้าหนุนดิจิทัลแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ เผยไทยขอให้เพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้า ฟื้นฟู MSMEs
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย และร่วมรับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปก และปฏิญญาการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะในสินค้าจำเป็นเพื่อรับมือกับผลกระทบทางการค้าที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ สินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งที่ประชุมเอเปกได้เน้นย้ำว่าการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อรับมือโควิด-19 จะต้องเหมาะสม โปร่งใส และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และต่อห่วงโซ่การผลิตโลก เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปก
ขณะเดียวกัน เอเปกได้สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการทางการค้าและแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 โดยให้มีการจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ในระยะยาว เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม รวมทั้งสนับสนุนอีคอมเมิร์ซ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการค้าดิจิทัลเพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวของห่วงโซ่การผลิต และเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ส่วนไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม โดยมีประเด็นสำคัญ คือ 1. สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และส่งเสริมความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อรับมือโควิด-19 โดยให้แจ้งการใช้มาตรการต่อ WTO ซึ่งไทยพร้อมร่วมกันกับสมาชิกเอเปกในการสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกต่อการค้า เปิดกว้าง เป็นธรรม มีเสถียรภาพ และคาดการณ์ได้ 2. ส่งเสริมมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว 3. รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิต และส่งเสริมให้ห่วงโซ่การผลิตมีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว 4. มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิต MSMEs การส่งออก การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 5. ให้ความสำคัญต่อห่วงโซ่คุณค่าโลก โดยลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งต้นทุนทางการค้าและยกระดับการผลิตไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และ 6. ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อขยายโอกาสให้ MSMEs รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประชาชน โดยเฉพาะภาคแรงงานให้สามารถก้าวทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับประเด็นหลัก (Theme) ของเอเปกในปี 2563 เน้นความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมั่งคั่งร่วมกัน การดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการออกแถลงการณ์เอเปกในครั้งนี้จึงถือเป็นการส่งสัญญาณในระดับนโยบายเพื่อร่วมกันรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเปกอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
เอเปกเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยสมาชิกเอเปกเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในปี 2562 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปกมีมูลค่า 337,888.75 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 70.2% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออกจากไทยไปเอเปก 171,250.83 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 69.54% ของการส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากเอเปก 166,637.91 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70.53% ของการนำเข้ารวมของไทย