xs
xsm
sm
md
lg

ภาคการผลิต มิ.ย.เริ่มฟื้น ชีวิตวิถีใหม่ดันอาหาร-เครื่องใช้ครัวเรือนโต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม มิ.ย.แตะ 83.02 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งสัญญาณภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัว โดยพฤติกรรมการบริโภควิถีใหม่ (New Normal) ดันอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ครัวเรือนโตหลังใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 83.02 ขยายตัว 4.18% จากเดือน พ.ค. และถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 55.21% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 52.34% ซึ่งคาดว่า MPI ทั้งปี 2563 จะยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าจะลบ 6-7% และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมติดลบ 5.5-6.5%

“MPI 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2563) ติดลบ 12.85% ซึ่งถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อประมาณเดือน เม.ย. และขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมแต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศใกล้ชิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตใหม่ที่ส่งผลต่อความต้องการสินค้าคงทนลดลง ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมหลักหดตัว” นายทองชัยกล่าว

ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมได้ส่งผลต่อความต้องการสินค้าคงทนลดลง ประชาชนชะลอการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทำให้อุตสาหกรรมหลักหดตัวลงและส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนมิถุนายน 2563 ได้แก่ การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน แต่ทว่า ความต้องการในสินค้าจำพวกอุปโภคและบริโภคกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนมิถุนายน อาทิ อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.78% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.46% โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.74% จากผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มและนมผง เนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการทำโปรโมชันและเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ โดยได้รับคำสั่งซื้อจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่าเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตในมาเลเซียปิดโรงงานชั่วคราวตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.74% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มเปิดประเทศของกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะตลาดหลักจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่น และบังกลาเทศ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น