กรมทางหลวงชนบทผุด 2 โปรเจกต์ “สะพานโกลเดนเกต” และ “อุโมงค์ลอดทะเล” เชื่อมเกาะลันตาน้อย และข้ามทะเลสาบสงขลา ย่นเวลา สร้างแลนด์มาร์กใหม่หนุนท่องเที่ยว คาดก่อสร้างปี 66
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทช.ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) โครงการก่อสร้างสะพาน 2 โครงการ คือ สะพานข้ามทะเลอันดามันเชื่อมแผ่นดินใหญ่-เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ ระยะทางประมาณ 1.5 กม. โดยตั้งงบศึกษาปี 2563 จำนวน 25 ล้านบาท เบื้องต้นประเมินค่าก่อสร้างประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีครึ่ง
และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลหลวง เชื่อมระหว่างจังหวัดสงขลา-จังหวัดพัทลุง ระยะทางประมาณ 6 กม. ตั้งงบศึกษาปี 2563 จำนวน 29 ล้านบาท เบื้องต้นประเมินค่าก่อสร้างประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะศึกษาแล้วเสร็จกลางปี 2564 และปี 2565 จะเสนอของบประมาณเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะก่อสร้างได้ปี 2566
ส่วนแนวคิดในการก่อสร้างสะพานทั้ง 2 โครงการนั้น จะศึกษาเปรียบเทียบความเหมาะสมใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. สะพานแขวน หรือที่เรียกว่า สะพานโกลเดนเกต 2. สะพานขึง ซึ่งรูปแบบเดียวกับสะพานพระราม 9 และ 3. อุโมงค์ลอดใต้ทะเล ซึ่งจะเป็นการหล่อชิ้นส่วนของอุโมงค์ และนำไปวางต่อเชื่อมกันเหนือพื้นดินใต้ทะเล เป็นเทคนิคที่เรียกว่า immersed tube ต้นทุนไม่สูง เนื่องจากไม่ต้องเจาะพื้นดิน
เบื้องต้นลักษณะทางกายภาพมีความเหมาะสมสามารถดำเนินการได้ทั้ง 3 รูปแบบ ขณะที่ต้นทุนในการก่อสร้างไม่ต่างกันมากนัก ส่วนจะเลือกรูปแบบใดนั้นจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบเพิ่มเติม
สำหรับรูปแบบสะพานแขวน (สะพานโกลเดนเกต) มีความเป็นไปได้เนื่องจากพื้นที่มีภูเขาทั้งสองฝั่ง สามารถทำสมอยึดถ่วงตัวสะพานแขวนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทช.ได้มีการศึกษาโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-จ.สมุทรสาคร โดยจะก่อสร้างรูปแบบสะพานโกลเดนเกต แต่พบว่าพื้นที่เป็นดินอ่อน การยึดถ่วงสะพานจะต้องก่อสร้างตึกลึกลงไปใต้ดินอย่างน้อย 7 ชั้นเพื่อเป็นจุดยึดถ่วง ซึ่งมีต้นทุนสูงมาก จึงต้องปรับรูปแบบเป็นสะพานขึงแทน ดังนั้น หากสะพานข้ามทะเลอันดามันเชื่อมแผ่นดินใหญ่-เกาะลันตาน้อย สรุปว่าจะใช้รูปแบบสะพานแขวน จะเป็นสะพานโกลเดนเกตแห่งแรกของไทย
นายปฐมกล่าวว่า ปัจจุบันการเดินทางจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะลันตาน้อยจะใช้แพขนานยนต์ ซึ่งแพบรรทุกรถยนต์ได้น้อย มีคิวต่อแถวยาวประมาณ 2 กิโลเมตร โดยต้องใช้เวลาข้ามฝั่ง 1-2 ชั่วโมง ประกอบกับเกาะลันตาใหญ่เป็นสถานที่ตั้งหน่วยงานราชการ และแหล่งท่องเที่ยว แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวที่นี่จำนวนมาก แต่การเดินทางมีข้อจำกัด ทำให้เกิดความล่าช้าไม่สะดวก นักท่องเที่ยวตกเครื่องเป็นประจำ
เดิมมติคณะกรรมการเกาะลันตาไม่ต้องการให้ทำสะพานเชื่อมแผ่นดินกับเกาะลันตา อยากให้คงสภาพธรรมชาติและเกาะไว้เหมือนเดิม และเกรงว่าจะทำลายเสน่ห์การท่องเที่ยว ในขณะเดียวกัน ประชาชนมีความต้องการสะพานเพื่อการคมนาคมขนส่งที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นจะนำความเห็นมาพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมว่าจะเป็นสะพานหรืออุโมงค์
ส่วนสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา บริเวณทะเลหลวงนั้น จะช่วยย่นเวลาในการเดินทางระหว่างจังหวัดสงขลา-พัทลุงได้กว่า 2 ชั่วโมง หรือย่นระยะทางได้ถึง 90 กม. ซึ่งประชาชนในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ได้เรียกร้องให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาเพิ่มอีก 1 แห่ง อยู่ตรงกลางระหว่างสะพานซะแล้ กับสะพานไสกลิ้ง