xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานคาดค่าภาคหลวงปีนี้วูบ 20% เหตุราคาน้ำมันดิบ-ก๊าซฯ ต่ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พลังงานเผยปีนี้ค่าภาคหลวงวูบ 20% เหตุราคาน้ำมันดิบและก๊าซฯ ปรับลดลง รวมทั้งปริมาณการใช้ก๊าซฯ ใน 6 เดือนแรกปีนี้ลดลงเหลือ 4 พันกว่าล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าครึ่งปีหลังทรงตัว

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงแรงนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้แนวโน้มการส่งรายได้กิจการปิโตรเลียมในปี 2563 ปรับลดลงเมื่อเทียบจากปีก่อนโดยเฉพาะค่าภาคหลวงที่คาดว่าจะลดลง 20% จากปี 2562 ที่มีรายได้ส่งเข้ารัฐประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ถูกลง จากต้นปีระดับเกือบ 200 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงมาเหลือประมาณ 160-170 บาทต่อล้านบีทียูในปัจจุบัน และจะลดลงอีกมากในช่วงเดือน ต.ค.ปีนี้ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมาก จากระดับกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี ลดลงไปต่ำสุดอยู่ที่ราว 19 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนขึ้นมาอยู่ในระดับกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐในปี 2562 ราว 1.6 แสนล้านบาท ถือเป็นกรม ที่มีการจัดหารายได้มากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ รองจาก 3 กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ปรับลดลงเหลือกว่า 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปกติอยู่ที่ประมาณกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นผลจากการใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทย ลดลงจากเดิม 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือเพียง 2,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังความต้องการใช้พลังงานในประเทศลดลงจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอลง ส่วนการใช้ก๊าซฯ เพื่อผลิตไฟฟ้ายังลดลงไม่มากนัก
ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรปรับตัวลง ทำให้ ปตท.บริหารจัดการเรียกก๊าซฯ จากผู้รับสัมปทานแหล่งต่างๆ ในอ่าวไทยเท่าที่จำเป็น หรือตามเงื่อนไขสัญญารับก๊าซฯ ขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ แล้วหันไปนำเข้าLNG เพิ่มขึ้นเพื่อมาเฉลี่ยต้นทุนราคาก๊าซฯ ในประเทศให้ถูกลงมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงด้วย

นอกจากกรมฯ จะนัดหมายหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างกรมเชื้อเพลิงฯ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะผู้ดำเนินการ (Operator) แหล่งเอราวัณในปัจจุบัน และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในกลุ่ม ปตท.สผ.ในฐานะผู้ดำเนินการ (Operator) รายใหม่ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 ระหว่าง เชฟรอน และ ปตท.สผ. เพื่อเปิดทางให้ ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ได้ตามแผนงานในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ที่จะมีกิจกรรมการติดตั้งแท่นหลุมผลิต และการเจาะหลุมผลิตบนแท่นใหม่ เป็นต้น คาดว่าภายใน 1 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจนขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น