กบร.ไฟเขียวกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยถือหุ้นในสายการบินได้ เพิ่มช่องทางระดมทุนได้หลากหลายจากกองทุนฯ ที่มีศักยภาพและเม็ดเงินสูง เร่งชง ครม.เพื่อออกประกาศกฎกระทรวงต่อไป ส่วนเปิดบินระหว่างประเทศเป็นไปตามมติ ศบค.คลายล็อก
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน วันที่ 20 ก.ค. ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขคุณสมบัติการถือหุ้นในสายการบิน โดยเปิดให้กองทุนต่างๆ สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ โดยเป็นกองทุนที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันในตลาดทุนไทยมีกองทุนอยู่ 2 ประเภท คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวม พร้อมทั้งรักษาสัดส่วนต่างชาติต้องไม่เกิน 49%
โดยจะเป็นการออกประกาศกฎกระทรวง และ กพท.ออกประกาศเพิ่มเติม 2 ฉบับ ซึ่งตามขั้นตอนจะนำเสนอร่างกฎกระทรวงเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจสอบก่อนออกประกาศ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะเริ่มมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ การให้เข้ามาถือหุ้นในสายการบินได้จะเป็นผลดีต่อสายการบินให้สามารถระดมทุนได้หลากหลายและง่ายขึ้น ขณะที่มีกองทุนฯ หลายแห่งที่มีอยู่ในตลาด และมีเม็ดเงินสูง ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องแก่สายการบิน โดยเรื่องนี้มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 ในประเด็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดนิติบุคคลอื่นในกรณีคุณสมบัติผู้ขอจดทะเบียนอากาศยานสัญชาติไทย และมาตรา 41/24 (6) ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน โดยจะเปิดโอกาสให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนเป็นบุคคลสัญชาติไทยสามารถนับเป็นสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 51% ได้
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร.ยังเห็นชอบให้มอบหมาย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ดำเนินการให้บริการจราจรทางอากาศของประเทศ โดยไม่ต้องทำเป็นสัญญาระหว่างกระทรวงคมนาคมกับ บวท.เหมือนเดิม ซึ่งสัญญาจะมีระยะเวลาคราวละ 20 ปี โดยล่าสุดจะครบกำหนดในปี 2564 โดยจะสรุปรายละเอียดเสนอรมว.คมนาคมภายใน 2 สัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาและเสนอ ครม.ต่อไป
ทั้งนี้ กบร.ได้เห็นชอบแผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นการปรับปรุงทบทวนแผนทุกๆ 3 ปี การบริหารจัดการห้วงอากาศการบินระหว่างประเทศเพื่อความปลอดภัยทั้งการบินพาณิชย์และด้านความมั่นคง ซึ่งล่าสุดได้นำปัจจัย ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) มาร่วมพิจารณาด้วย เนื่องจากได้ส่งผลต่อปริมาณการจราจรในห้วงอากาศลดลง
สำหรับการให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศนั้น นายจุฬากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่ง กพท.ได้ออกประกาศกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตทำการบินของอากาศยานที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ตามมติ ศบค. และปัจจุบัน กพท.ยังไม่มีการออกประกาศเพิ่มเติม