xs
xsm
sm
md
lg

การบินกระอัก! ไวรัสซัดรายได้หาย “บวท.” จ่อกู้ 3.9 พันล. - ทอท.ของดจ่ายค่าเช่าธนารักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษไวรัสโควิดทำการบินกระอัก บวท.ขอกู้ดอกเบี้ยต่ำเกือบ 3.9 พันล้าน สำรองสภาพคล่อง และลงทุนปี 63-64 หวังเปิดบินต่างประเทศช่วยเพิ่มรายได้ ด้าน ทอท.เจรจาธนารักษ์งดจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ 3 ปี วงเงินกว่า 4 พันล้าน

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ภาคคมนาคมขนส่งทางอากาศ เพื่อขอรับจัดสรรภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ (พ.ร.บ.เงินกู้ โควิด-19) วงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้น มีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 657.999 ล้านบาท (1 มาตรการ) ส่วนหน่วยงานอื่นจะเป็นการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยมาตรการด้านการเงิน และมาตรการอื่นๆ แทน ได้แก่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ขอสนับสนุนจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) และค้ำประกันเงินกู้ วงเงิน 3,920 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ระยะสั้น 2 ปี วงเงิน1,220 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาว วงเงิน 2,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องและการลงทุน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากที่ต้องลดค่าบริการนำร่อง 50% เพื่อช่วยเหลือสายการบิน และรายได้ที่ลดลงจากปริมาณการจราจรทางอากาศที่ลดลง โดยให้ บวท.ทำรายละเอียดเสนอไปยังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

ส่วนบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ขอยกเว้นการจ่ายค่าตอบแทนการใช้ที่ราชพัสดุ สนามบิน สุวรรณภูมิ จากวิธีผลตอบแทนจากมูลค่าทรัพย์สิน (ROA) ปี 2563-2565 รวม 3 ปี เป็นเงิน 2,862.857 ล้านบาท (ปี 2563 วงเงิน 900 ล้าบาท/ ปี 2564 วงเงิน 981 ล้านบาท /ปี 2565 วงเงิน 981 ล้านบาท) โดยขอชำระค่าตอบแทนด้วยวิธี ส่วนแบ่งรายได้ ( Revenue Sharing) อัตรา 5% ของรายได้ทั้งหมด

ส่วนสนามบินดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่, เชียงราย ขอยกเว้นจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำ รายปี (Minimum Guarantee) ปี 2563-2565 ประมาณ 1,390.736 ล้านบาท โดยขอชำระค่าตอบแทนการใช้ที่ราชพัสดุ ด้วยวิธีส่วนแบ่งรายได้อัตรา 5.5% ของรายได้ทั้งหมด

ด้านนายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท.กล่าวว่า คาดว่าสถานการณ์การบินจะยังไม่กลับเป็นปกติในเร็วๆ นี้ ดังนั้น บวท.จำเป็นต้องเสนอขอกู้เงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาช่วย 2 ส่วน คือ เสริมสภาพคล่องการดำเนินงาน เป็นการขอวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) และสำรองในการลงทุน ในช่วงปี 2563-2564 หากสถานการณ์การบินดีขึ้น รายได้กลับมา อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้ ส่วนการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาทนั้น สามารถปรับแผนเลื่อนการลงทุนออกไปได้เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรจริง โดยขณะนี้เที่ยวบินภายในประเทศเริ่มเพิ่มขึ้น โดยมีมากกว่า 800 เที่ยวบิน/วัน เฉพาะวันที่ 2 ก.ค.มีถึง 926 เที่ยวบิน แต่ยังต่ำกว่าปกติที่มี 2,600 เที่ยวบิน/วัน ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกก่อนเกิดโควิดมีรายได้แล้วราว 6,000-7,000 ล้านบาท แต่ผลประกอบการทั้งปีจะขาดทุนแน่นอน ส่วนจะมากหรือน้อยต้องดูสถานการณ์ช่วงไตรมาส 4/63 ว่าจะมีเปิดบินต่างประเทศได้หรือไม่

“ที่ผ่านมา บวท.ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลงจากวันละ 35 ล้านบาท เหลือ 25 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ประเมินว่าการบินยังคงไม่ฟื้นกลับไปเหมือนปี 2562 ซึ่ง บวท.จะต้องบริหารจัดการและหารายได้จากธุรกิจอื่นมาใช้หมุนเวียน”


กำลังโหลดความคิดเห็น