xs
xsm
sm
md
lg

“มอลล์” ทุ่ม 5 หมื่นล้านลุยดัน RE เรือธง ดึง “เจน 3-ต่างชาติ” เสริมทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - เดอะมอลล์เคลื่อนทัพ ปรับโครงสร้างตามโครงการ M Transformation ดึงมืออาชีพต่างชาติผสมผสานเลือดเก่าบริหาร เสริมทัพด้วยเจเนอเรชันที่ 3 อัมพุช ลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี งบ 50,000 ล้านบาท ปีนี้โควิดฟาดหางรายได้อาจตกลง 15%

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ความอยู่รอดของธุรกิจค้าปลีกไทยจากนี้ไปจะต้องทำการปรับตัวครั้งใหญ่โดยให้ความสำคัญต่อ 3 ปัจจัยหลัก คือ1. ความเป็นสากล (Globalization) ที่ต้องมีการผสมผสานระบบสมัยใหม่และคนต่างชาติรวมทั้งการเปิดรับโลกทัศน์ใหม่ๆ, 2. ความเป็นดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digitaliztion) และ 3. การจับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Tourism) เพื่อรองรับกับการเป็นชอปปิ้งเดสติเนชันของไทย

ทั้งนี้ เดอะมอลล์กรุ๊ปได้เริ่มโครงการ M Tranformation มาเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อรองรับกับการเข้าสู่ปีที่ 40 ของเดอะมอลล์ รวมทั้งการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งในแง่ของระบบโครงสร้างการบริหารและผู้บริหารครั้งใหญ่ ซึ่งโครงสร้างผู้บริหารเป็น 1 ใน 7 ส่วนของการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเป็นองค์กรมืออาชีพในระดับสากลที่มีภาพลักษณ์แบบไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว


โครงสร้างใหม่นี้มีผลเป็นทางการแล้วตั้งแต่ต้นปี 2563 นี้ ซึ่งจะมีทั้งผู้คนต่างชาติที่มีประสบการณ์ด้านค้าปลีกเข้ามาร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง ผสมผสานกับผู้บริหารเลือดเก่าที่อยู่กับเรามานานกว่า 30 ปีก็ยังมี อีกทั้งเสริมคนเจเนอเรชัน 3 ตระกูลอัมพุช กับตระกูลภัทรประสิทธิ์ ตอนนี้มีแล้ว 4 คน

โครงสร้างใหม่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก จะมีผู้บริหารระดับ SEVP ดูแล และรายงานขึ้นตรงต่อ นางสาวศุภลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารคนเดียว จากที่โครงสร้างเดิมของเราจะมีซีอีโอคนเดียวคุมทุกอย่างทั้งหมด


สำหรับโครงสร้างใหม่ 3 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate /RE) ดูแลโดยนายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ (อยู่เดอะมอลล์ประมาณ 27 ปี) ดูเรื่องการพัฒนาโครงการต่างๆ ใหม่ๆ ทั้งชอปปิ้งมอลล์ ที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ มิกซ์ยูส โรงแรม เอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ในอนาคตคจะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนรายได้หลักมากกว่า 65% จากรายได้รวมทั้งหมด

2. กลุ่มเทรดดิ้ง หรือการค้า (Trading /TR) ดูแลโดยนายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ดูเรื่องห้างสรรพสินค้า หน่วยธุรกิจต่างๆ เช่น เพาเวอร์มอลล์ สปอร์ตมอลล์ กูร์เมต์มาร์เก็ต เป็นต้น และการตลาดทั้งหมด จะมีสัดส่วนรายได้ในอนาคตประมาณ 35%

3. กลุ่มบัญชีและการเงิน และไอที ดูแลโดยนางสาววรรณา เพิ่มสุวรรณ


สำหรับรายชื่อผู้บริหารต่างชาติที่ร่วมงาน เช่น ฟรานซ์ คราทซ์, โรเบิร์ต เจมส์ ซิสเบล ดูกูร์เมต์มาร์เก็ต, โลว์รองซ์ เอมิลี่ จอร์จ แชมบ้า เคยทำที่ลาฟาแยตต์ฝรั่งเศส, เจนนิเฟอร์ ฮอลล์ เคยทำที่ลาฟาแยตต์, ลุค จอร์จ แอนเดร ชาริเออร์ เคยทำที่กาสิโน ลาซาด้า, รอบ คริสเติล เคยทำที่วอลมาร์ท รีอัลไลแอนซ์ และบิ๊กซีเป็นต้น ส่วนเจเนอเรชัน 3 เช่น วิภา อัมพุช, ไพลิน อัมพุช, พลอยชมพู อัมพุช และ วรามาศ ภัทรประสิทธิ์ เป็นต้น

ส่วนการดำเนินธุรกิจนั้น ภายในช่วง 5 ปีจากนี้เริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วจะใช้งบประมาณรวมมากกว่า 50,000 ล้านบาท ที่จะมีทั้งการก่อสร้างโครงการที่ดำเนินงานอยู่ตามแผนและรีโนเวตสาขาเดิม โดยที่รีโนเวตเสร็จแล้วเช่น เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ส่วนที่จะเริ่มปีหน้าคือ ท่าพระ ใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท สาขาบางแคใช้งบกว่า 4,000 ล้านบาท บางกะปิ รามคำแหง ทยอยต่อไป ส่วนโครงการใหม่ยังดำเนินการต่อตามแผน เช่น บางกอกมอลล์ และเอ็มสเฟียร์ ที่คาดว่าจะเปิดบริการอีกประมาณ 3 ปี เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม นางสาวศุภลักษณ์มองว่า กลุ่มเดอะมอลล์มีงบประมาณในการลงทุนต่อเนื่องหรือแม้การหาแหล่งเงินทุนก็มีหลายช่องทาง ซึ่งแนวทางการเข้าตลาดหุ้นก็เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียเหมือนกันแล้วแต่บางมุมมอง และเราก็มีแลนด์แบงก์ใหญ่ 5-6 แปลงรอพัฒนาด้วยแต่ต้องรอเวลา ซึ่งรูปแบบศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าต่อไปของเราก็ยังคงขนาดเดิม 50,000-80,000 ตารางเมตรกำลังดี แต่ที่บางกอกมอลล์จะเป็นขนาดใหญ่เพื่อเป็นแฟลกชิปศูนย์การค้ารูปแบบใหม่ของเรา

ปี 2563 นี้คาดว่ารายได้รวมอาจจะตกลง 10-15% จากปีที่แล้วที่มีรายได้รวมประมาณ 50,000 กว่าล้านบาทในส่วนของห้างสรรพสินค้า เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ยอดขายผ่านออนไลน์โตกว่า 300%




กำลังโหลดความคิดเห็น