“กกพ.” เคาะลดค่าเอฟที ก.ย.-ธ.ค. 63 ลง 0.83 สตางค์ต่อหน่วย หรืออยู่ที่ -12.43 สตางค์ต่อหน่วยหรือเฉลี่ยเรียกเก็บอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ลดลง เกาะติดการใช้ไฟหวั่นลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแม้แนวโน้มต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับลดผลอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับการเรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2563 ลง 0.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือเรียกเก็บค่าเอฟทีที่ -12.43 สตางค์ต่อหน่วย โดยลดลงจากงวดก่อนที่เอฟทีอยู่ที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟที่เรียกเก็บจากประชาชนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.63 บาทต่อหน่วยจากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งการปรับดังกล่าวสะท้อนต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ โดยถือเป็นการปรับลดค่าไฟลงครั้งแรกในรอบ3 ปีกว่าหรือนับตั้งแต่งวดพ.ค.-ส.ค. 60
" ค่าเอฟทีงวดนี้ไม่ได้มีการนำเงินใดๆ มาบริหารแต่อย่างใดเนื่องจากได้คำนวณให้สะท้อนตามกลไกต้นทุนที่แท้จริงซึ่งค่าเอฟทีที่ลดลงได้เพียง 0.83 สตางค์ต่อหน่วยมาจากการใช้ไฟฟ้าจริงที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19ที่มีผลต่อการคำนวณต้นทุนโดยหากไม่มีผลกระทบส่วนนี้ค่าเอฟทีจะลดลงได้อีก 5.6สตางค์ต่อหน่วยดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาในงวดต่อไปหรือม.ค.-เม.ย. 64 นั้นแม้ทิศทางราคาก๊าซฯจะลดลงสะท้อนน้ำมันแต่กกพ.ยังคงห่วงปริมาณการใช้ไฟที่มีแนวโน้มลดลง"นายคมกฤชกล่าว
สำหรับค่าไฟงวดนี้ลดลงมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลงทุกประเภท ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติลดลง 41.27 บาทต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันเตาลดลง 2.30 บาทต่อลิตร ดีเซลลดลง 3.66 บาทต่อลิตร ลิกไนต์ (กฟผ.) คงเดิม ขณะที่ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ย (IPPs) ลดลง 33.40 บาทต่อตัน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ วันที่ 1-31 พ.ค. 63 เท่ากับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงจากงวดก่อนที่ประมาณการไว้ที่ 31.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
"แนวโน้มค่าไฟฟ้าตลอดปี 2564 หากดูเฉพาะค่าเชื้อเพลิงซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก พบว่ามีแนวโน้มค่าไฟฟ้าจะลดลง เพราะราคาก๊าซฯของไทยอ้างอิงตามต้นทุนราคาน้ำมันย้อนหลัง6-8 เดือน ซึ่งราคาน้ำมันจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงเม.ย.-พ.ค. ปีนี้ ดิ่งลงมาก บางช่วงเหลือประมาณ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลก็จะมีผลทำให้ราคาก๊าซฯขยับลลง ตาม แต่ปัจจัยที่ต้องจับตามองคือผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก โควิด-19 จะทำให้จีดีพีปีหน้าจะติดลบต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งการใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วนราว 0.7-0.8 ของจีดีพีหากจีดีพี ติดลบ ก็ทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าลดลงก็ทำให้สัดส่วนต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าขยับเพิ่มขึ้น "นายคมกชฤกล่าว