สถานการณ์น้ำทั่วประเทศในช่วงเกือบ 2 เดือน นับแต่ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2563
ปริมาณฝนโดยรวมไล่เลี่ยแทบเป็นเส้นกราฟเดียวกัน ตั้งแต่เริ่มต้นปี 1 มกราคม 2563 เสียด้วยซ้ำ สะท้อนว่าปริมาณฝนไม่ได้ดีไปกว่าครึ่งแรกของปี 2562 ปริมาณน้ำในเขื่อนจึงไม่กระเติ้อง ซ้ำร้ายยังลดลงจนน่าใจหาย จากการใช้น้ำในฤดูแล้ง 2562/2563 ที่ผ่านมา
ต้องรอเดิมพันครึ่งปีหลัง นับตั้งแต่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของฤดูฝน (15 กรกฎาคม-15 ตุลาคม 2563) ซึ่งแนวโน้มปริมาณฝนน่าจะดีกว่าครึ่งแรกของปีนี้และครึ่งหลังของปีกลาย เพราะคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยราว 5% น้อยกว่าปีกลาย
“แนวโน้มปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่าค่อยๆ ดีขึ้น เขื่อนภูมิพลยังไม่ค่อยดี แต่เขื่อนสิริกิติ์มีแนวโน้มน้ำใช้การดีขึ้นตามลำดับ” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
ที่จริงเป็นแนวโน้มอย่างนี้มาโดยตลอด ยกเว้นปีนี้ปริมาณน้ำน้อยมากจนประชาชนรู้สึกได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหนือเขื่อนภูมิพลนอกจากปริมาณฝนน้อยส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งมีการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำสาขา ดักน้ำก่อนไหลลงแม่น้ำปิงและลงเขื่อน
ทางออกของเขื่อนภูมิพล คือการเติมน้ำจากแหล่งน้ำอื่น เช่น แม่น้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน นอกเหนือจากลำน้ำปิงที่เป็นแหล่งน้ำหลักเท่ากับใช้ขีดความสามารถในการรับปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพลให้เกิดประโยชน์แทนปล่อยว่างเว้น ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ที่เป็นแหล่งน้ำหลักของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน มักมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าเขื่อนภูมิพล เพราะอยู่ในแนวฝนประกอบกับเหนือเขื่อนสิริกิติ์ยังไม่มีเขื่อนดักลำน้ำน่านที่เป็นลำน้ำสายหลักนัก แต่ช่วงปีสองปีนี้แห้งแล้ง ปริมาณฝนน้อย น้ำต้นทุนในเขื่อนสิริกิติ์จึงน้อยจนน่าใจหาย
อย่างไรก็ตาม ปกติช่วง 3 เดือนสุดท้ายที่เหลือของฤดูฝนมักมีปริมาณฝนมาก โอกาสที่เกิดภาวะน้ำหลาก จนยกระดับเป็นอุทกภัยก็มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะภาคเหนือ
“เราต้องเตรียมแผนรับมือกับอุทกภัยไปในตัว ขณะเดียวกันน้ำหลากเหล่านี้ก็จะไหลลงเขื่อนที่มีพื้นที่ว่างเหลืออยู่มากมาย ถ้าปริมาณน้ำท่ามากก็จะช่วยเติมน้ำเขื่อนได้ดีขึ้น ตอนนี้แนวโน้มน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ดีขึ้น” ดร.สมเกียรติกล่าว
ส่วนท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเป็นทุ่งเจ้าพระยาใหญ่ 22 จังหวัด ฝนที่ลงมาท้ายเขื่อนจะซึมซับลงดินที่แห้งแล้งก่อนจำนวนหนึ่ง จากนั้นถึงจะเป็นน้ำท่า ไหลหลากจากภาคกลางตอนบนลงมาถึงกรุงเทพฯ
“ถ้าเป็นภาวะทั่วไป มีมรสุมเข้ามาตามปกติ คิดว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่รุนแรงมากนัก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีพายุจรพาดผ่านเข้ามาหลายลูกซ้อนๆ กันเหมือนปี 2554” เลขาธิการ สทนช.กล่าว
โดยรวมๆ สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักที่หล่อเลี้ยงทุ่งเจ้าพระยายังไม่ดีขึ้นมากนัก ไม่อาจวางใจได้
โอกาสที่ชาวนาทุ่งเจ้าพระยาจะได้ทำนาปรังช่วงฤดูแล้ง 2563/2564 จึงดูมืดมน ไม่ต่างจากฤดูแล้งปี 2562/2563 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศงดทำนาปรัง และเฝ้าเตือนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดเกษตรกรเองต้องหาทางหนีทีไล่ ปลูกพืชใช้น้ำน้อยลดความเสี่ยงแทนอีกปี