ผู้จัดการรายวัน 360 - ซีอาร์จีเปิดโมเดลรุกคลาวด์คิตเชนเต็มตัว ทุ่มงบ 500 ล้านบาทหวังผุดให้ได้ 100 แห่งภายใน 5 ปี พร้อมดึงครัวคุณต๋อยยกสตรีทฟูดดังกว่า 2,000 ร้านค้าเข้าร่วมขบวน รับฟูดดีลิเวอรีที่พุ่งทะยานกว่า 4 หมื่นล้านบาทในปีนี้
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนที่จะรุกตลาดด้วยกลยุทธ์คลาวด์คิตเชน (Cloud Kitchen) ด้วยโครงการ “Every Foood” เพื่อรองรับภาพรวมของตลาดธุรกิจดีลิเวอรีหรือการจัดส่งอาหารที่เติบโตอย่างมาก ซึ่งตลาดรวมดีลิเวอรีขณะนี้มีประมาณ 35,000 ล้านบาท ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ฟูดดีลิเวอรีเติบโตมากขึ้นและคาดว่าตลาดรวมฟูดดีลิเวอรีปี 2563 นี้จะมีประมาณ 40,000 กว่าล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 ที่มีเพียง 10,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้ คลาวด์คิตเชนจะเข้ามารองรับดีลิเวอรีที่เติบโตมาก และไรเดอร์ด้วยที่เพิ่มมากขึ้น เช่น แกร็บ ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เก็ท อีกมากมาย เนื่องจากเป็นรูปแบบของการสร้างครัวกลางที่รวมร้านอาหารชื่อดังและอร่อยมาไว้รวมในครัวเดียวกัน ซึ่งสามารถสั่งอาหารได้มากกว่า 1 ร้านค้าในออเดอร์เดียวกัน ลดความยุ่งยาก และลดต้นทุนการสั่ง จากการดีลิเวอรีอาหารแบบเดิมที่สั่งได้เพียงร้านเดียวต่อออเดอร์ และเสียค่าส่งหลายครั้งเมื่อสั่งหลายร้าน อีกทั้งจะทำให้ทั้งบริษัทฯ เอง และพาร์ตเนอร์คือร้านอาหาร มีการเติบโตขยายธุรกิจได้อย่างดี และลูกค้าก็สามารถใช้บริการสะดวกและมีร้านอาหารให้เลือกมากกว่าเดิมด้วย
โดยวางแผนที่จะเปิดคลาวด์คิตเช่นในปี 2563 ประมาณ 6-10 จุด และมียอดออเดอร์จากลูกค้ารวมกว่า 100 ล้านบาท และเป้าหมายภายใน 5 ปีจากนี้จะลงทุนรวม 500 ล้านบาท เพื่อสร้างคลาวด์คิตเชนให้ได้ครบ 100 จุด และมียอดรวมจากออเดอร์ประมาณ 3,000 ล้านบาท
เบื้องต้นจะเน้นพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลักก่อนที่จะขยายไปยังต่างจังหวัดในปีหน้า เปิดสาขาแรกแล้วเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ถนนนาคนิวาส ซึ่งเป็นทำเลที่มีการส่งอาหารดีลิเวอรีสูงมาก เบื้องต้นแต่ละจุดจะมีเมนูจากร้านอาหารประมาณ 20 ร้านดังบริการ เน้นไปที่สตรีทฟูด ซึ่งแล้วแต่ทำเล จะไม่เหมือนกันในแต่ละจุด
ขณะนี้ได้ร่วมมือกับทางครัวคุณต๋อยเป็นพันธมิตรหลัก ซึ่งมีร้านอาหารดังกว่า 2,000 ร้านค้าในเครือข่ายเข้ามาร่วมด้วย แต่จะทยอยมาเข้าร่วม
“ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่ถูกสถานการณ์เป็นตัวเร่งทำให้คุ้นชินกับสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ การทำให้บ้านเปรียบเสมือน second workplace จึงส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตอยู่บ้านมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการจึงต้องกระจายช่องทางสร้างรายได้ให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มลูกค้าในช่องทางอื่นมากยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจร้านอาหารจะลงมาแข่งขันในเซกเมนต์ของฟูดดีลิเวอรีเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การผุดขึ้นของคลาวด์คิตเชนจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าได้มากขึ้น” นายณัฐกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เผยว่า มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซไทย (e-commerce) ปี 2562 มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปีนี้ ผู้บริโภคหันมาชอปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตที่ 19% เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 14,900 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งประเมินเป็นมูลค่าใช้จ่ายรวมบนระบบออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นทั้งปี 87,700 ล้านบาทจากช่วงเวลาปกติ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการควรเร่งขยายช่องทางธุรกิจและสร้างรายได้บนระบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ หรือ New Normal และเพิ่มโอกาสเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่เปลี่ยนเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น
นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอร์น โปรเจค จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่เราจัดอีเวนต์ครัวคุณต๋อยในการออกงานแฟร์ต่างๆ มากว่า 7-8 ปี ทำให้เรามีรายชื่อเครือข่ายร้านอาหารดังๆ มากกว่า 2,000 ร้านค้า ซึ่งการร่วมมือกับทางซีอาร์จีครั้งนี้ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้กับร้านค้าได้ขยายธุรกิจ และลูกค้าก็ได้รับประทานอาหารที่อร่อยๆ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถเดินทางไปรับประทานที่ร้านได้
“ผู้ประกอบการร้านอาหารในไทยยังได้เจาะตลาดและสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่เพื่อสร้างยอดขาย เรามั่นใจว่าอี-คอมเมิร์ซจะเป็นทางรอดของธุรกิจค้าขายในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน”
“เราใช้เวลาคุยกันเกือบปี ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่โควิดทำให้รูปแบบธุรกิจเกิดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้รูปแบบนี้สำเร็จ คือ 1. อาหารต้องอร่อยเหมือนเดิม เราต้องฝึกเชฟของเราอย่างเต็มที่ 2. คุณภาพที่ไว้ใจได้ 3. ความรวดเร็วในการส่ง ซึ่งเราจำกัดไว้ที่รัศมี 5 กิโลเมตรต่อจุด
สำหรับร้านอาหารที่จะเข้าร่วมนั้นมี 2 รูปแบบ คือ 1. การที่ร้านอาหารนั้นบอกสูตรเมนูนั้นมาแล้วเราใช้เชฟของเราเป็นคนทำอาหาร กับ 2. ให้ร้านค้าทำเมนูนั้นเอง แล้วเข้ามาสู่ระบบการจัดส่งของเรา โดยบริษัทฯ จะทำการหักเปอร์เซ็นต์ตามที่ตกลงเพื่อเป็นรายได้
“Every Foood” สั่งง่ายและรวดเร็วผ่านเว็บไซต์ www.foodhunt.com, แอปพลิเคชัน Foodhunt และ food aggregators ชั้นนำ หรือ CRG call center โทร. 1312 แหล่งรวมร้านอาหารชื่อดังระดับตำนานทั้งแบรนด์ในเครือ CRG ร้าน Street Food และร้านอาหารที่คัดสรรโดย “ครัวคุณต๋อย” เช่น เจ้หมวย ข้าวผัดปูราชพฤกษ์ บะหมี่ตลาดขวางจากพังงา ขาหมูคุโรบูตะ ขาหมู 5 รางวัลอร่อย เฮียเพ้งเป็ดย่าง เมนูเด็ดแกงไตปลาจากร้านจินดา ครัวชาววิเสท นอกจากนี้ ยังมีร้านในเครือของ CRG เช่น Salad factory (สลัดแฟคทอรี่) และ Kowlune (เกาลูน) อีกด้วย
นายณัฐกล่าวด้วยว่า การขยายสาขาร้านอาหารในเครือยังมีต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะเปิดได้ 50 กว่าสาขา จากสิ้นปีที่แล้วมี 1,067 สาขา คาดว่าปีนี้จะเพิ่มได้ครบ 1,100 สาขา ส่วนปี 2564-2565 คงต้องมาพิจารณาวางแผนกันใหม่ว่าจะเปิดอย่างไรเท่าไร เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น
สำหรับรายได้รวมของซีอาร์จีปีที่แล้วทำได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่คาดว่าปีนี้คงทำได้ประมาณ 10,500 ล้านบาทเท่านั้น โดยที่ยังมีร้านอีกประมาณ 2% จากทั้งหมดที่ยังไม่ได้เปิดบริการ