กรมท่าอากาศยานแจงทุ่มงบ 1,725 ล้านพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ รองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มก้าวกระโดด เผยช่วง 10 ปีเติบโตถึง 144% ต่อปี จัดงบ 950 ล้านในปี 64 เพิ่มขีดรับเครื่องใหญ่ บินตรงออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง
นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ชี้แจงถึงกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2563 ได้มีการตั้งข้อสังเกตในการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ ว่า ทย.ได้จัดทำแผนการพัฒนาท่าอากาศยาน 2 ระยะ เพื่อให้สอดคล้อง และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีการจัดลำดับความสำคัญ ระยะเวลาการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และสามารถปรับปรุงลำดับระยะเวลาในการลงทุนในแผนที่เคยกำหนดไว้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้
โดยใช้ 2 หลักการพิจารณา คือ 1. เพิ่มขีดความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณผู้โดยสารหรือเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นเกินความสามารถจะรองรับได้ (Demand side) 2. เพื่อส่งเสริมให้เกิดปริมาณผู้โดยสาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Supply side) ซึ่งสนามบินบุรีรัมย์มีสถิติปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2553 มีจำนวน 6,113 คน/ปี และล่าสุดปี 2562 มีผู้โดยสาร 349,440 คน/ปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 144% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยสูงสุดของสนามบินที่ ทย.รับผิดชอบ โดยเฉพาะในปี 2560-2562 โตก้าวกระโดด เนื่องจากมีการแข่งขันกีฬา เช่น ช่วงจัดการแข่งขัน MOTO GP มีผู้โดยสารในชั่วโมงคับคั่ง 720 คน (4 เที่ยวบิน) /ชั่วโมง ขณะที่อาคารที่พักผู้โดยสาร ขาออกรองรับได้ 300 คน (2 เที่ยวบิน)/ชั่วโมง และขาเข้ารองรับได้ 150 คน (1 เที่ยวบิน)/ชั่วโมง
แผนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์นั้นบรรจุอยู่ในปลายแผนการลงทุนระยะที่ 1 ดำเนินงานช่วงปีงบประมาณ 2563-2566 มีระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี มีวงเงินในการลงทุนรวม 1,725 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการจัดสรรงบประมาณที่สัดส่วน 11.8% จากการลงทุนทั้งหมดของแผนพัฒนาท่าอากาศยานระยะที่ 1 ที่มีมูลค่าประมาณ 14,600 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาสนามบินระยะที่ 1 ดำเนินงานช่วงปีงบประมาณ 2558-2564 โดยสนามบินบุรีรัมย์มีแผนพัฒนาประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ (ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วในปี 2563-2565) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,000 คน/ชั่วโมง หรือ 2.80 ล้านคน/ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 619 ล้านบาท เปิดให้บริการในปี 2566
2. โครงการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่งจาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร อาคารคลังสินค้าและลานจอดอากาศยานขนส่งสินค้า
และขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 2564 จำนวน 950 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ชนิด B787 หรือ A330 ในการบินพิสัยไกล เพื่อให้สามารถเปิดเส้นทางบินตรงจากออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม สนามบินบุรีรัมย์ถูกวางตำแหน่งยุทธศาสตร์ ให้เป็นศูนย์กลางทางการบินของอีสานใต้ในการเชื่อมการขนส่งทางอากาศกับกลุ่มประเทศ CLMV และกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมท่าอากาศยานภูมิภาคให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิต สินค้าในแถบอีสานใต้ ออกสู่ตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมเสริมศักยภาพของการเป็นเมืองกีฬาครบวงจร (Sport city) และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม