รมช.คมนาคม ชี้แจงงบก่อสร้าง-พัฒนาสนามบินเชื่อมโลก เชื่อมไทยสู่เมืองรอง เผย 9 จังหวัด รอลุ้นไฟเขียวผุดก่อสร้าง คาด 2-3 ปี กลับสู่ภาวะปกติ
วันนี้ (3 ก.ค.) นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อภิปรายชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในส่วนของการก่อสร้างและพัฒนาสนามบิน ว่า รัฐบาลนี้ต้องการดำเนินนโยบายหลักในการขนส่งทางอากาศ เพื่อเชื่อมโลก เชื่อมไทยสู่เมืองรอง โดยได้จัดงบในการพัฒนาสนามบินไปแล้วจำนวน 16,400 ล้านบาท แบ่งเป็น สนามบินเบตงแล้วเสร็จพร้อมใช้งาน ใช้งบทั้งสิ้น 1,655 ล้านบาท สนามบินนานาชาติแม่สอด แล้วเสร็จพร้อมใช้งาน ใช้งบทั้งสิ้น 1,113 ล้านบาท สนามบินกระบี่ ใช้งบทั้งสิ้น 5,130 ล้านบาท สนามบินขอนแก่น ใช้งบทั้งสิ้น 2,504 ล้านบาท สนามบินตรัง ใช้งบทั้งสิ้น 3,548 ล้านบาท สนามบินนครศรีธรรมราช ใช้งบทั้งสิ้น 3,458 ล้านบาท สนามบินสุราษฎร์ธานี ใช้งบทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท และสนามบินบุรีรัมย์ ใช้งบทั้งสิ้น 1,725 ล้านบาท แต่จนถึงปี 63 ใช้งบไป 14,600 ล้านบาท ถ้าสิ้นนโยบายดังกล่าวตามหลักนี้ จะใช้งบประมาณจำนวน 36,000 ล้านบาท ในปี 2568
นายถาวร กล่าวต่อว่า ขณะนี้เครื่องบินขึ้นลงในไทยปีหนึ่งจำนวน 1.1 ล้านลำ ช่วงโควิดลดลง แต่คาดว่า อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะกลับสูภาวะปกติ ส่วนความเป็นไปได้ว่าจะเกิดสนามบินขึ้นในแต่ละจังหวัดได้หรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่า สนามบินพะเยา ขณะนี้กระทรวงคมนาคม ได้จัดสรรงบปี 64 เพื่อทำการศึกษา สนามบินพัทลุง เราได้งบตั้งกองทุนของปี 63 คาดว่า ภายในเดือนนี้ ทางกรมบัญชีกลางจะอนุมัติ ขณะที่ สนามบินสตูล บึงกาฬ อยู่ระหว่างการศึกษาใช้งบกองทุนปี 63 สนามบินมุกดาหาร อยู่ระหว่างเสนอความเป็นไปได้ในการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม สนามบินกาฬสินธุ์ อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบปี 64 สนามบินนครปฐม อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนามบินร้อยเอ็ด ควรจะได้รับการอนุมัติในปี 63 แต่เกิดปัญหาในปี 64 จึงตั้งงบให้เพื่อพัฒนา ก่อสร้าง ปรับปรุง ต่อเติม อาคารที่พักผู้โดยสาร วงเงินงบจำนวน 110 ล้านบาท และสนามบินพังงา อยู่ในระหว่างการพิจารณาของการท่าอากาศยาน และจะเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคมภายใน 1-2 เดือนนี้