ทย.จับมือ กสทช.ใช้ระบบ 5G พัฒนาบริการสนามบินอัจฉริยะ ปีนี้นำร่อง “กระบี่” วางระบบตรวจเชื้อโควิด-19 รองรับเปิดบินฟื้นท่องเที่ยวในประเทศ “ถาวร” ดัน “ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี และแม่สอด” ต่อคิวพัฒนา คาด 1-2 ปี ระบบ 5G เต็มรูปแบบ
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการศึกษาและการให้บริการผ่านโครงข่ายโทรคมนาคมในระบบ 5G ระหว่างนายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะเกิดการพลิกโฉมรูปแบบการให้บริการในท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน ผ่านการพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง และสร้างระบบนิเวศของสนามบินอัจฉริยะ (Smart Airport Ecosystem) เพื่อรองรับการให้บริการผู้โดยสาร ที่ปลอดภัยและมีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีความสลับซับซ้อน การรบกวนการบินจากโดรนหรือวัตถุอื่น ความแออัดบนน่านฟ้า ปัญหามลพิษทางอากาศ การบำรุงรักษาระบบและเครื่องบินให้อยู่ในสภาพดีตามมาตรฐานการบิน เป็นต้น
โดยนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า MOU นี้เป็นความร่วมมือที่จะทำให้เกิดการบริการด้านการบินด้วยเทคโนโลยี 5G มุ่งสู่ระบบนิเวศของสนามบินอัจฉริยะ (Smart Airport Ecosystem) ภายใต้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งจะพลิกโฉมการบริการสนามบินของ ทย. โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงความมั่นคงและปลอดภัยในด้านการต่อต้านอากาศยานต่างๆ โดยคาดว่าภายใน 1-2 ปี ระบบจะใช้ได้เต็มรูปแบบทุกสนามบินของ ทย. ซึ่งปัจจุบันประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเริ่มนำเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงมาใช้สแกนผู้โดยสารที่มีอาการป่วย ดังนั้น สนามบินของ ทย.จึงจำเป็นที่ต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างศักยภาพของระบบต่างๆ รองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงแบบปัจจุบัน (real time)
โดยหลังจากโรคโควิด-19 เบาลง การเดินทางจะกลับมา โดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศจะกลับมาคึกคักเพราะสถานที่ท่องเที่ยวปิดไปหลายเดือนจะเป็นแรงดึงดูดให้คนไทยเที่ยวไทย ดังนั้น การให้บริการของสนามบินจะต้องสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัย รวมไปถึงความสะดวกรวดเร็ว ในการบริการ ระบบ สามารถตรวจสอบข้อมูลการท่องเที่ยว ระบบคมนาคมขนส่ง สถานที่ท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม ฯลฯ ผ่านแอปพลิเคชัน ด้วยเทคโนโลยี 5G ซึ่งผู้โดยสารจะสัมผัสบริการได้ตั้งแต่เข้าสนามบิน ซึ่งจะนำร่องที่สนามบินกระบี่ก่อนเนื่องจากเป็นสนามบินนานาชาติ มีจุดแข็งเป็นศูนย์กลางด้านแหล่งท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามันซึ่งผู้โดยสารก่อนเกิดโควิดมีประมาณ 4 ล้านคน/ปี เติบโตปีละ 10% และยังได้ลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาทเพื่อขยายอาคารผู้โดยสารและเพิ่มหลุมจอดจาก 10 เป็น 40 หลุมจอด โดยขณะนี้กระบี่ได้กลับมาเปิดให้บริการแล้วหลังต้องปิดช่วงโควิดระบาด ส่วนบริการระบบสนามบินอัจฉริยะจะเห็นได้ภายในปีนี้ หรือเมื่อปริมาณเที่ยวบินอยู่ที่ประมาณ 50% โดยจะเริ่มจากการติดทำระบบตรวจสอบโรคติดต่อโควิดและอื่นๆ เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจ
“กสทช.จะให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและอุปกรณ์เครื่องมือแบบให้เปล่า รวมถึงการจัดผู้ให้บริการทางเทคโนโลยี โดย ทย.ไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด ซึ่ง กสทช.มีรายได้จากกรประมูลคลื่นและมุ่งช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญยังสอดคล้องกับที่รัฐบาลต้องการใช้งบประมาณเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วย” นายถาวรกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มที่กระบี่แล้ว สนามบินที่มีผู้โดยสาร 1 ล้านคน/ปีขึ้นไป ประมาณ 6-7 แห่ง เช่น ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี และแม่สอด ที่เป็นสนามบินนานาชาติและมีแนวโน้มการเติบโตของผู้โดยสาร จะพัฒนาเป็นสนามบินอัจฉริยะ โดยเฉพาะแม่สอดนั้นจะรองรับผู้โดยสารจากฝั่งเมียวดี พม่า ที่ไม่มีสนามบิน ขณะที่จีนได้มาลงทุน มีแหล่งบันเทิง ชอปปิ้ง กาสิโน คาดว่าจะมีคนกว่า 3 แสนคนที่ต้องการเดินทางด้วยเครื่องบินลงที่สนามบินแม่สอด และเดินทางด้วยรถยนต์ข้ามสะพานเมยไปยังพม่า ซึ่ง ทย.ได้ขยายความยาวรันเวย์จาก 1,800 เมตร เป็น 2,400 เมตร ซึ่งจะเปิดใช้ปลายปีนี้
นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า สนามบินอัจฉริยะผ่านโครงข่าย 5G จะมีบริการที่อำนวยความสะดวกทั้งผู้โดยสารและประชาชนภายในสนามบิน ใช้เทคโนโลยีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โควิด-19 รวมทั้งการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบความปลอดภัยความมั่นคงทางไซเบอร์ (Cyber Security) และทางด้านการบิน และใช้ในการสร้างระบบนิเวศน์ของสนามบินอัจฉริยะ