ท่ามกลางวิกฤตฝุ่นควันที่กลับมาหลอกหลอนคนไทยทุกปี การแก้ปัญหาของไทย ยังคงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งฉีดพ่นละอองน้ำ ตรวจจับรถควันดำ ขอความร่วมมืออย่าเผาในที่โล่ง และให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเอง
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะต้นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษ แทบไม่มีการหยิบยกมาพูดถึงเลย
อย่างเรื่องร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่มีการเสนอและขอให้รัฐบาลผลักดันมาตลอดก็ยังไปไม่ถึงไหน ไม่มีเสียงตอบรับจากรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวหากมีการผ่านออกมาบังคับใช้ และเอาจริงเอาจัง ก็น่าจะสามารถช่วยลดมลพิษทางอากาศลงได้
เพราะกฎหมายจะทำให้เกิดการหารือและจัดทำหลักเกณฑ์ ค่ามาตรฐานต่างๆ ของอากาศ เพื่อจัดการมลพิษ และสามารถเอาผิดผู้ที่ก่อมลพิษทางอากาศได้
ปัจจุบันแม้จะมีค่ามาตรฐานในบางตัว แต่ไม่ได้มีกฎหมายออกมาในการกำหนดว่าหากเกินมาตรฐานแล้วจะมีความผิดอะไรอย่างใด
เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะกระทบกับเรื่องของการลงทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย หากคุมเข้มมาก ก็อาจไม่เอื้อต่อการดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุน
แต่รัฐบาลก็ต้องเลือกว่าจะเอาอย่างไรระหว่างเม็ดเงินที่จะได้มากับสุขภาพที่ต้องเสียไปและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา
ขณะที่จีนซึ่งเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศเช่นกัน แต่รัฐบาลจีนมีการออกโยบายระดับชาติ เพื่อจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ โดยออกแผนปฏิบัติการ Air Pollution Plan ระยะยาว 5 ปี กำหนดค่าฝุ่น PM 2.5 ในทุกเมืองหลักที่ก่อมลพิษ จำกัดการใช้ถ่านหินทั่วประเทศ จำกัดการผลิตเหล็ก และอลูมิเนียม ปิดโรงงาน โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
ตั้งหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งใหม่
ออกแผนการดำเนินงานเรื่องพลังงานสะอาด และลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลมและแสงอาทิตย์ โดยตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยร้อยละ 35 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าภายในปี 2030
รวมถึงการทดลองพลังงานไฮโดรเจนเพื่อทดแทนพลังงานถ่านหิน
มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน ตรวจวัดสภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง การใช้กฎหมายภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกรุงปักกิ่ง กำหนดเก็บภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอัตรา 12 หยวน ต่อหน่วยการปล่อยมลพิษทางอากาศ เป็นต้น
ส่วนประเทศไทย ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจังแค่ไหน และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องสำคัญ กระทบต่อสุขภาพ ที่จะรอให้ลมฝนธรรมชาติพัดให้หายไปตามฤดูกาลไม่ได้