สถาบันประสาทฯ เปิดตัว "หุ่นยนต์ผ่าตัดสมอง" เครื่องแรกในไทย ผ่าตัดรักษา "โรคลมชัก-พาร์กินสัน" ระดับยากซับซ้อน ให้ผลดี ลดอาการชัก อาการสั่น คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความแม่นยำสูง
วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่สถาบันประสาทวิทยา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเปิดตัวหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองผู้ป่วยโรคลมชักเครื่องแรกในประเทศไทย ว่า ขณะนี้สถาบันประสาทวิทยาได้นำหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองเครื่องแรกของประเทศไทยมาใช้งาน ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคลมชัก โรคพาร์กินสัน โดยช่วยรักษาผู้ป่วยแล้ว 4 ราย ทำให้ช่วยควบคุมอาการชัก อาการสั่นได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความแม่นยำและละเอียดกว่าการใช้มือแพทย์ลงมือ ที่สำคัญช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดลงจาก 8-10 ชั่วโมง เหลือประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย เพราะแผลเล็ก พักฟื้นไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้ นอกจากนี้ สถาบันประสาทฯ ยังมีการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองตีบที่มารักษาช้าเกินกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งยาละลายลิ่มเลือดใช้ไม่ได้ผลแล้ว โดยการลากลิ่มเลือดในสมอง ตั้งเป้า 67 ราย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตอนนี้ดำเนินการไปแล้ว 30 กว่าราย ผลการตอบสนอง 90 กว่า% ดีมาก
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักกว่า 5 แสนราย เกือบ 1.5 แสนรายมีภาวะดื้อยากันชัก ซึ่งการผ่าตัดโรคลมชัก เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายากและซับซ้อน โดยเป็นการผ่าตัดสมองจุดที่ทำให้กระแสไฟฟ้าสมองผิดปกติ ทำให้กว่า 70% รักษาโรคลมชักหายได้ ส่วน 30% อาการชักน้อยลง อาจจะต้องกินยาอยู่ แต่คุณภาพชีวิตดีขึ้น ที่ผ่านมาการผ่าตัดด้วยมือแพทย์จึงต้องอาศัยความแม่นยำสูง ทั้งตำแหน่งและความลึกของเป้าหมาย ดังนั้น การนำหุ่นยนต์ผ่าตัดมาใช้จะทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น เพราะสามารถคำนวณจุดที่มีปัญหาได้ โดยกระบวนการรักษาจะต้องมีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองตามปกติธรรมดาก่อน ประมาณ 1-2 ชั่วโมง และทำ MRI เพื่อดูว่าสมองตรงส่วนใดที่มีความผิดปกติ เพื่อคาดคะเนจุดที่มีปัญหาในสมอง เมื่อพอทราบแล้วก็จะใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดวางเข็มขั้วไฟฟ้าเข้าไปยังตำแหน่งที่คาดคะเน และติดตามดูอาการชักเป็นเวลา 5 วัน เพื่อดูว่าตำแหน่งการเกิดโรค โดยการวางขั้วไฟฟ้าราคาประมาณ 6 หมื่นบาทต่อเข็ม และเป็นการใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้น ยิ่งมีปัญหาหลายจุดก็จะทำให้ค่ารักษาสูง
นพ.ธนินทร์ กล่าวว่า เมื่อทราบจุดกำเนินดแล้ว ก็ต้องมาหารือกันว่าบริเวณดังกล่าวสามารถผ่าตัดได้หรือไม่กระทบกับการสั่งการการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือไม่แล้วจึงผ่าตัดรักษา หรือการใส่เครื่องกระตุ้นสมองส่วนลึกเพื่อรักษา ทำให้มีความแม่นยำสูง ใช้เวลาน้อยลง ลดความเสี่ยงได้รับอันตรายจากการดมยาสลบ และการเสียเลือดจากการผ่าตัดได้อีกด้วย เช่นเดียวกับโรคพาร์กินสันที่เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ที่สามารถใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดวางเครื่องมือ DBS ในการหาจุดที่ผิดปกติ เมื่อทราบตำแหน่งก็สามารถผ่าตัดเพื่อจี้สมองในจุดที่มีปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งการรักษาด้วยหุ่นยนต์นั้นไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิการรักษา แต่กาดจะใช้เครื่องผ่าตัดหรือไม่นั้น อยู่ที่แพทย์ประเมินว่าจำเป็นต้องใช้วิธีนี้หรือไม่ แต่ในส่วนของการวางเข็มขั่วไฟฟ้าต่างๆ จะไม่อยู่ในความครอบคลุม แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถจ่ายได้ สถาบันฯ ก็มีกองทุนเพื่อผู้ป่วยโรคลมชักเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ มาช่วยดูแลในส่วนนี้แทน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผู้ป่วยโรคลมชักน่าจะมีประมาณ 15% ที่ควรเข้ารับการผ่าตัด เพราะโรคลมชักแบบง่ายไม่ซับซ้อนก็เข้ารับการดูแลรักษากันแล้ว น่าจะเหลือแต่กลุ่มที่ยากและซับซ้อน ดังนั้น เพื่อการมีส่วนร่วมช่วยผู้ป่วย สถาบันฯ ได้จัดกิจกรรมจัดหาทุน คือ กิจกรรมชัก...อยากจะวิ่งปีที่ 4 ซึ่งจะจัด ในวันอาทิตย์ที่ 5 ม.ค. 2563 สามารถลงทะเบียนออนไลน์ที่ https://prrunner.net/race/regist-run-outofshadows/