xs
xsm
sm
md
lg

เผยทัศนคติ-พฤติกรรมคนไทยต่อสิ่งแวดล้อม ‘ปัญหาขยะพลาสติก’ ครองแชมป์!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลวิจัยการตลาดโลกสวย Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา โดยนักศึกษา สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) จากกลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทย จำนวน 1,252 คน แบ่งเป็นเพศชาย 33.7% เพศหญิง 67.3% ซึ่งเมื่อแบ่งตามเจเนอเรชั่น เป็นสัดส่วนของกลุ่ม Baby boomers (อายุ 55-73 ปี) = 15.3% กลุ่ม Gen X (อายุ 29-54 ปี) = 18.7% กลุ่ม Gen Y (อายุ 23-28 ปี) = 60.9% และกลุ่ม Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) = 5.0%




ด้านทัศนคติ หรือจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม พบว่า
อันดับ 1 คิดว่าปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องใหญ่
อันดับ 2 คิดว่า ควันรถเป็นต้นเหตุของมลพิษ
อันดับ 3 คิดว่า การไม่แยกขยะ นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม
อันดับ 4 คิดว่า การใช้น้ำอย่างถูกวิธี และการอนุรักษ์น้ำช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
อันดับ 5 คิดว่า การคิดก่อนใช้ และประหยัดพลังงานไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยาก และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
อันดับ 6 คิดว่า การหันมาใช้ผลิตภัณฑ์อีโค่แบรนด์เป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ด้านพฤติกรรม หรือการลงมือทำจริงๆ พบว่า
อันดับ 1 มีพฤติกรรมปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน
อันดับ 2 มีพฤติกรรมลดการใช้ถุงพลาสติก
อันดับ 3 พกแก้ว พกหลอดมาเอง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก
อันดับ 4 มีพฤติกรรมนำขยะมาหมุนเวียนโดยการใช้ซ้ำ
อันดับ 5 มีพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
อันดับ 6 เดินทางไปด้วยกันหากไปทางเดียวกัน เพื่อลดมลพิษจากควันรถยนต์


เปรียบเทียบความคิดและการรลงมือทำของคนไทยจากกลุ่มตัวอย่าง
"ขยะพลาสติก" เป็นเรื่องที่คนตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 เป็นเรื่องมลพิษทางอากาศ อันดับ 3 การแยกขยะ ใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ อันดับ 4 คือ การประหยัดและอนุรักษ์น้ำ และอันดับสุดท้าย คือ การลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
ซึ่งทั้ง 5 ปัจจัยนี้ สะท้อนด้วยว่า คนไทยมีความตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการลงมือทำจริงๆ อันเนื่องจากบางปัจจัยมีข้อจำกัดและเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้การลงมือทำจริงเป็นไปได้ยาก เช่น ความสะดวกสบายที่ลดลงต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยน เป็นต้น แต่ก็เป็นโอกาสทางธุรกิจในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่คิดและมีความใส่ใจทางด้านสิ่งแวดล้อม
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด ซีเอ็มเอ็มยู กล่าวว่า จากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคดังกล่าว เราต้องการที่จะค้นหาว่าเป็นคนที่มีความสำนึกต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และได้ลงมือกระทำเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งพบว่า ผู้บริโภคจำนวนร้อยละ 74 มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อีโค่แบรนด์ การลดการใช้ถุงพลาสติก การพกแก้วและหลอดมาเอง เป็นต้น ในส่วนนี้เป็นกลุ่มผู้บริโภคโลกสวยในประเภทเขียวเข้ม หรือสายกรีนตัวแม่อีกถึงร้อยละ 37.6% ที่พร้อมจะใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าและบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกข้อบ่งชี้ให้นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านสิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น