xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” แจงสภา ยันพัฒนาถนนภาคใต้ โชว์แผนแม่บทผุด “มอเตอร์เวย์คู่รถไฟ” 8 เส้นทางทั่ว ปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” แจงสภา ยันพัฒนาถนนภาคใต้เต็มที่ เผยปี 64 เสนองบซ่อมบำรุงกว่า 1.6 หมื่นล้าน พร้อมกางแผนแม่บทผุด “มอเตอร์เวย์ คู่รถไฟทางคู่” 8 เส้นทาง เชื่อมพื้นที่เศรษฐกิจทุกภูมิภาคกับด่านชายแดน ลดเวนคืน ดึงต่างชาติลงทุน PPP

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงคมนาคม ในประเด็นของ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กระทรวงคมนาคมไม่เอาใจใส่ในการดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้

โดยขอชี้แจงว่า การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ภาคใต้จะแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ

1. การบำรุงรักษาทางหลวงภาคใต้ ซึ่งมี 3 เส้นทาง ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ทางหลวงหมายเลข 41 และทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งมีการตั้งงบประมาณในการบำรุงรักษาตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 7,055.91 ล้านบาท และงบประมาณซ่อมบำรุงทางหลวงสายหลักภาคใต้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2563 ตั้งงบไว้ถึง 14,059 ล้านบาท ปี 2564 ได้เพิ่มเป็น 16,808 ล้านบาท เพื่อซ่อมบำรุงผิวถนน ทางหลวงสายหลักเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีความปลอดภัยในการสัญจร

ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากจังหวัดเพชรบุรี-สงขลา 1183 กม. งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 2,901 ล้านบาท

ทางหลวงหมายเลข 41 (ชุมพร-พัทลุง) งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 974 ล้านบาท และทางหลวงหมายเลข 42 (สงขลา-นราธิวาส) ระยะทาง 262 กม. งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 689 ล้านบาท

หลังการซ่อมบำรุงถนน จะมีการทดสอบสภาพ ซึ่งพบว่ามีค่าเฉลี่ยความเรียบถนนทั่วประเทศอยู่ที่ 78% แต่ถนนในภาคใต้มีค่าเฉลี่ยความเรียบสูงกว่า โดยอยู่ที่ 93.1% โดยทางหลวงหมายเลข 41 มีมาตรฐานความเรียบดีกว่าเกณฑ์ที่ 89.5% ซึ่งอาจจะมีผิวทางบางช่วงที่มีสภาพไม่เรียบร้อย โดยกระทรวงคมนาคม ไม่ได้นิ่งนอนใจในการจัดสรรงบประมาณไปดูแล

ขณะที่งบประมาณการซ่อมบำรุงทางหลวงทั่วประเทศนั้น ในภาคใต้จะได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 4,519 ล้านบาท ภาคเหนือได้รับ 3,555 ล้านบาท ภาคกลางได้รับ 6,750 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับ 4,715 ล้านบาท เป็นสิ่งยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนภาคใต้และไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนในทุกภาคเช่นกัน โดยมีการบริหารงบประมาณเพื่อดูแลสภาพถนนทุกสายให้ประชาชนได้ใช้สัญจรอย่างปลอดภัย

2. การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้มี 2 โครงการ ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 79,006 ล้านบาท โดยคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้เห็นชอบแล้ว สำรวจที่ดินและทรัพย์สินเวนคืนแล้ว โดยเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทบทวนการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

และมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่ ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 71 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 40,620 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว และรายงาน EIA ผ่าน คชก.แล้ว การศึกษา PPP เสร็จแล้ว

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จากปัญหาการออกแบบและก่อสร้างถนนที่ผ่านมาที่เส้นทางไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายที่สมบูรณ์ ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงคมนาคมศึกษามอเตอร์เวย์ที่สามารถเชื่อมต่อทั่วประเทศ ภายใต้กรอบ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. ถนนแนวตรงเพื่อให้เกิดการสัญจรสะดวก ลดอุบัติเหตุ 2. ไม่ผ่านเข้าชุมชน เพื่อไม่ซ้ำแนวถนนเดิมและมีปัญหาเวนคืน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3. พัฒนาความเจริญสู่พื้นที่ใหม่ 4. สร้างชุมชนเมืองใหม่ 5. แยกการจราจรในเมือง (Local Traffic) ออกจากการเดินทางระหว่างเมือง (Through Traffic)

กระทรวงคมนาคมเห็นว่าการแยกศึกษามอเตอร์เวย์อย่างเดียวจะมีปัญหาเนื่องจากระบบโลจิสติกส์ทางบก มีเส้นทางรถไฟด้วย ซึ่งนโยบายต้องการใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางของอาเซียนตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นแผนแม่บท MR-MAP (มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่) รวม 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจทุกภูมิภาคของประเทศกับด่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

1. แนวเหนือ-ใต้ จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,620 กม. ได้แก่ N1 เชียงราย (ด่านแม่สาย) - สงขลา (ด่านสะเดา) ระยะทาง 1,60 กม., N 2 - หนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กม., N 3 บึงกาฬ-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม เพื่อเชื่อมประเทศกัมพูชา) ระยะทาง 470 กม.

2. แนวตะวันออก-ตะวันตก จำนวน 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,310 กม. ได้แก่ W1 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม ระยะทาง 710 กม., W2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี ระยะทาง 830 กม., W3 กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 310 กม., W4 กาญจนบุรี (ด่านบ้านพุน้ำร้อน)-ตราด ระยะทาง 220 กม., W5 ชุมพร-ระนอง (ด่านบ้านดอน) ระยะทาง 120 กม., W6 ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 190 กม.

ในปี 2564 จะเป็นการศึกษาแผนแม่บท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งประโยชน์จากการบูรณาการพัฒนามอเตอร์เวย์-ทางรถไฟ 1. ลดผลกระทบต่อชุมชน 2. สร้างความคุ้มค่าในการลงทุน 3. กระจายความเจริญเข้าสู่ทุกภูมิภาค 4. ส่งเสริมการพัฒนาเมือง 5. พัฒนาเศรษฐกิจ 6. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

นอกจากนี้ยังลดการลงทุนภาครัฐ ด้านค่าเวนคืนและลดการลงทุนโดยเปิดให้เอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุน




กำลังโหลดความคิดเห็น