xs
xsm
sm
md
lg

Google ปั้นอาวุธใหม่ช่วยเอสเอ็มอีมุ่งดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กล่าวกันว่าประเทศไทยมีธุรกิจที่เรียกว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SME) ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านราย ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไปในการทำธุรกิจ รวมทั้งการขยายตลาดสู่โลกออนไลน์ด้วย แต่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ธุรกิจทั้งหลายรวมทั้งเอสเอ็มอีต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน

กูเกิล (Google) ซึ่งเป็นบริษัทรายใหญ่จากอเมริกา พยายามเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งหลายในไทยให้มีตัวตนบนโลกออนไลน์มากขึ้น โดยอาศัยความเป็นบริษัทเสิร์ชเอนจินในการพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่วันที่ 29 มิถุนายนนี้ถือเป็นวัน SMB สากล ก็ได้เปิดตัวเครื่องมือเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทยปรับตัวให้อยู่รอดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังระบาดอยู่พอดี

กุญแจสำคัญที่มีอยู่ 3 เครื่องมือหลัก คือ Google My Business, Market Finder และ Grow with Google ซึ่งเอสเอ็มอีไทยสามารถใช้ได้ฟรี

นายไมค์ จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2563 นี้เพื่อร่วมฉลอง “วัน SMB สากล” Google ได้เพิ่มเครื่องมือเพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMB ที่ได้แนะนำการปรับตัวของธุรกิจแบบ New Normal บนเว็บไซต์ Grow with Google ด้วยการเพิ่มหน้าเว็บไซต์ให้คำแนะนำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ เช่น การเพิ่มข้อมูลธุรกิจให้ครบถ้วนใน Google My Business ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเมื่อผู้ประกอบการ SMB อัปเดตข้อมูลธุรกิจครบถ้วนทั้งที่อยู่ เบอร์ติดต่อ เว็บไซต์ และช่วงเวลาเปิดให้บริการ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคค้นพบและคลิกดูรายละเอียดเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า โดยเฉพาะการเพิ่มรูปภาพที่จะช่วยให้การค้นหาธุรกิจ และร้านอาหารต่างๆ มีความน่าสนใจจนผู้บริโภคเลือกใช้ Google Maps เพื่อนำทางมาที่ร้านเพิ่มขึ้นถึง 42%

ขณะเดียวกัน Google ยังเพิ่มข้อมูลและทักษะการเรียนรู้ในการประกอบธุรกิจภายใต้ Primer แอปพลิเคชันที่จะมาช่วยให้เรียนรู้เรื่องธุรกิจและการตลาดง่ายๆ ผ่านบทเรียนสั้นๆ ในเวลาไม่เกิน 5 นาที เพื่อให้สามารถนำความรู้ และทักษะดิจิทัลไปปรับใช้ร่วมกับธุรกิจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Google ยังได้เปิดตัวโครงการ “GFS Accelerator” ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเร่งส่งเสริมให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดของ Google มาใช้ในการฝีกอบรมทักษะ พร้อมกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นสามารถสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ Google มีการแนะนำชุดเครื่องมือที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SMB ที่สามารถใช้งานกันได้ฟรีๆ อย่าง Google Trends และ Market Finder เครื่องมือที่ช่วยในการวิเคราะห์เทรนด์และการค้นหาต่างๆ ผ่าน Google Web Search, Image Search, News Search, Google Shopping และ YouTube Search ที่แสดงข้อมูลเชิงลึกถึงพฤติกรรม และความสนใจของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และสถานการณ์

อย่างเช่น ผลจากการสำรวจการค้นหายอดนิยมในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีการค้นหาเกี่ยวกับเกษตรกร คือ “เยียวยาเกษตรกรดอทคอม” ซึ่งพุ่งขึ้นกว่า 5,000% ความสนใจเกี่ยวกับร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการค้นหาเมนูอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 รวมถึงการค้นหาเกี่ยวกับการส่งออกที่สามารถค้นหาข้อมูลหรือสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดและการรับมือในการดำเนินการส่งออกอีกด้วย

ขณะเดียวกัน Google ยังมีส่วนร่วมในการผิดชอบในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียด้วยเช่นกัน โดยการช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมทักษะและโปรแกรมดิจิทัลต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งครอบคลุมใน 3 ส่วน คือ

1. ขยายการให้การสนับสนุนโดยตรงไปยังกลุ่มธุรกิจ SMB

2. ช่วยเหลือให้ธุรกิจเหล่านั้นได้รับการฝึกอบรมทักษะดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูธุรกิจของตนเอง

3. สำรองโปรแกรมที่สามารถนำไปใช้เพื่อการกอบกู้เศรษฐกิจให้กลับมาได้ และสามารถครอบคลุมสำหรับคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของ Google คือการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มธุรกิจ SMB ในประเทศไทย โดยมูลนิธิกองทุนไทยและสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท.) เป็นหนึ่งในมูลนิธิและสมาคมที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Go Digital ASEAN ที่สนับสนุนโดย Google.org องค์กรเพื่อการกุศลของ Google ภายใต้เงินทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMB ทั่วโลก จำนวน 3.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 102,268,650 บาท ซึ่งจะมีการนำเงินทุนส่วนหนึ่งไปใช้ในการพัฒนาและจัดการฝึกอบรมทักษะการเรียนรู้หนังสือดิจิทัลขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการออนไลน์ที่จะครอบคลุมทั่ว 20 จังหวัดในประเทศไทย เช่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก


กำลังโหลดความคิดเห็น