xs
xsm
sm
md
lg

“ถาวร” ดันผุดศูนย์ซ่อมเครื่องบิน “ตาก” ดึงเอกชนลงทุน คุมตลาดโซนจีนตอนใต้-พม่า-ลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ถาวร” ดันปั้น “สนามบินตาก” เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน คุมโซนพื้นที่ตอนเหนือของไทย ลาว พม่า และจีนตอนใต้ เผยมีเอกชนสนใจ ลงทุน PPP หวังต่อยอด ดันเกิดอุตฯ การบินรอบสนามบิน

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวคิดในการพัฒนาสนามบินตากให้เป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน เนื่องจากจุดที่ตั้งมีความเหมาะสม รองรับเครื่องบินที่ให้บริการในพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่กรุงเทพฯ ขึ้นไปด้านเหนือ พม่า ลาว จนถึงจีนตอนใต้ คุนหมิง ฮ่องกง ซึ่งประเมินว่าในโซนนี้มีเครื่องบินมากกว่า 1,000 ลำ

ขณะนี้มีบริษัทเอกชนได้แสดงความสนใจเข้ามาพูดคุยแนวทางในการดำเนินการ อาจจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบร่วมลงทุน หรือ PPP มีการลงทุนก่อสร้างแฮงก้า และจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ในการซ่อมบำรุงเครื่องบิน และอาจจะสามารถดำเนินการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการบิน ทั้งในพื้นที่สนามบินและพื้นที่โดยรอบสนามบิน เช่น โรงเรียนด้านการบิน หรือตั้งโรงงานผลิตอะไหล่เครื่องบินได้

สนามบินตากนั้น มีเนื้อที่เกือบ 2,000 ไร่ การจะทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินนั้นจะต้องมีการขยายความยาวของรันเวย์สนามบินตากจากปัจจุบัน 1,500 เมตร ออกไปเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นด้วย หากเป็นไปได้ ทย.จะร่วมกับเอกชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีลูกค้าอยู่ในมือแล้ว ในการพัฒนาและใช้รูปแบบ PPP ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณของภาครัฐ โดยจะต้องมีการศึกษาและหารือกับกรมธนารักษ์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ด้วย

“พื้นที่อีอีซีมีโครงการศูนย์ซ่อม MRO เพื่อดูแลพื้นที่โซนภาคตะวันออกของไทยและประเทศใกล้เคียง แต่ตอนนี้แอร์บัสไปร่วมลงทุนที่มาเลเซียแล้ว ดังนั้น โซนตั้งแต่ใต้กรุงเทพฯ ลงไปคาดว่าว่าจะส่งเครื่องบินไปซ่อมบำรุงที่มาเลเซีย ส่วนโซนพื้นที่เหนือกรุงเทพฯ ขึ้นมา สนามบินตากเป็นจุดที่เหมาะสมและมีโอกาสทางการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงเครื่องบิน” นายถาวรกล่าว

นายถาวรกล่าวว่า สนามบินภูมิภาคในความรับผิดชอบของ ทย.มีความจำเป็นในการให้บริการประชาชน ทย.จึงมีภารกิจในการพัฒนาให้สนามบินมีมาตรฐานมีความปลอดภัย

สำหรับสนามบินแม่สอดปัจจุบันมีการบินฝนหลวง และเครื่องบินส่วนตัวใช้บริการ ยังไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ และเป็น 1 ใน 4 สนามบินที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งในการโอนให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.บริหาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากติดปัญหาในประเด็นข้อกฎหมาย กรณีโอนทรัพย์สินรัฐ โดยล่าสุด ทอท.เสนอเปลี่ยนเป็นสนามบินอุดรธานี กระบี่ บุรีรัมย์ และตาก ซึ่งกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการให้เช่าบริหารว่าจะดำเนินการได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น