นักวิชาการวอน รมว.วัฒนธรรม-ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี ช่วยแก้ปัญหาแหล่งโบราณคดี 4,000 ปี ที่ค้นพบในไร่ชาวบ้านใน ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ เมื่อปี 2546 และประชาชนในพื้นที่ได้รวบรวมเงินซื้อที่ดินให้ อบต.ถือกรรมสิทธิ์และดูแล เพื่อเป็นสมบัติชาติ แต่ผู้บริหาร อบต.ชุดปัจจุบันไม่ยอมพัฒนาพื้นที่ จนการขุดค้นหรือการเข้าเยี่ยมชมยากลำบาก แม้ชาวบ้านทำประชาพิจารณ์มีมติยกที่ดินให้ราชพัสดุดูแลแทนแล้ว แต่ก็ยังไม่ดำเนินการ
วันนี้ (27 มิ.ย.) นายนพนันท์ อรุณวงศ์ ณ อยุธยา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Noppanan Arunvongse Na Ayudhaya ว่า วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2546 นายวิมล อุบล เกษตรกรเจ้าของที่ดินในหมู่ที่ 5 ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้พบวัตถุโบราณจำนวนมากขณะขุดปรับหน้าดินเพื่อเตรียมเพาะปลูกในไร่ของเขา
นายวิมล จึงรีบแจ้ง อบต.หนองราชวัตร และ อบต.หนองราชวัตร ได้แจ้งให้สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีทราบ
เมื่อรับทราบรายงาน สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร จึงเข้าตรวจสอบในเบื้องต้น และได้พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก ได้แก่ ชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ขวานหินขัด ชิ้นส่วนภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พบชิ้นส่วนขาภาชนะดินเผาที่มีรูปแบบเฉพาะในยุคหินใหม่อายุราว 4,000 ปีอีกด้วย
ชาวบ้านในพื้นที่ดีอกดีใจ อาสารวบรวมเงินกันซื้อที่ดินผืนดังกล่าวจากนายวิมล ที่ยินดีขายให้ในราคาพิเศษ และมอบที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อบต.หนองราชวัตร เพื่อให้ร่วมกับกรมศิลปากรทำการขุดค้นเป็นสมบัติของชาติต่อไป
กรมศิลปากรจึงส่งนักโบราณคดีไปประจำพื้นที่ เพื่อร่วมกับชาวบ้านช่วยกันขุดค้นแหล่งโบราณคดีสำคัญระดับโลกแห่งนี้ และให้ชื่อว่า “แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร” นับตั้งแต่นั้น
แต่เวลาผ่านไป หลังจากการเลือกตั้ง อบต.ครั้งต่อมา ชาวบ้านก็ได้ อบต.หนองราชวัตรชุดใหม่ ซึ่งก็คือชุดปัจจุบันมาดูแลพื้นที่แทนชุดเดิม สถานการณ์กลายเป็นว่า เมื่อ อบต.หนองราชวัตรชุดปัจจุบันเข้าบริหารแล้วกลับทำให้การขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรอยู่ในสภาพติดขัดยากลำบาก ขาดการสนับสนุนจาก อบต.หนองราชวัตรอย่างแข็งขันเหมือนที่ผ่านมา
แม้กระทั่งระบบไฟฟ้าและประปาในแหล่งโบราณคดีก็ยังถูก อบต.หนองราชวัตรยกเลิก ทำให้นักโบราณคดีต้องเจียดเงินเดือนส่วนตัวเพื่อติดตั้งและจ่ายค่าบริการกันเอง
ไม่มีแม้กระทั่งห้องน้ำสำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรที่มีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัยนับสิบนับร้อยคนในแต่ละครั้งที่ต้องอาศัยต่อคิวเข้าห้องน้ำในบ้านพักชั้นเดียวหลังเล็กๆ ของนักโบราณคดีแทน
กรมทางหลวงชนบทตัดถนนลาดยางระยะทางหลายสิบกิโลเมตรเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเดินทางเข้าเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร แต่เหลืออีกเพียงแค่ 1 กิโลเมตรจะถึงแหล่งโบราณคดี ก็กลับกลายเป็นแค่ถนนลูกรังสภาพย่ำแย่ทุลักทุเล เนื่องจากถนนช่วงระยะ 1 กิโลเมตรสุดท้ายนั้นอยู่ในพื้นที่ของ อบต.หนองราชวัตร ซึ่งไม่มีการพัฒนาบำรุงรักษาถนนปลายทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีให้เหมาะสมแต่อย่างใด
แม้จะมีหน่วยงานขุดค้น และมีนักโบราณคดีประจำพื้นที่ แต่กรมศิลปากรก็ทำอะไรไม่ได้มากนักเนื่องจากที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ อบต.หนองราชวัตร ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ทำอะไรไม่ได้อีกเช่นกัน ทั้งๆ ที่เป็นผู้รวบรวมเงินซื้อที่ดิน ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ อบต.หนองราชวัตรเองแท้ ๆ
ครั้นจะเลือกตั้ง อบต.กันใหม่ก็ทำไม่ได้อีก เนื่องจาก คสช.มีคำสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง อบต.มาเป็นเวลากว่า 6 ปีจนถึงปัจจุบัน ทำให้ อบต.หนองราชวัตรชุดนี้ มีอำนาจบริหารมาอย่างยาวนานมั่นคงนับตั้งแต่นั้น และยังไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดอีกด้วย ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง อบต.เกิดขึ้น
ชาวบ้านในพื้นที่จึงหาทางออกใหม่ โดยร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอหนองหญ้าไซ ทำประชาพิจารณ์ แล้วจึงมีมติให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร จาก อบต.หนองราชวัตร มาเป็นที่ดินราชพัสดุแทน เพื่อให้กรมศิลปากรและหน่วยงานรัฐอื่นๆ เข้ามาขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีกันได้สะดวก รวมทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจจากทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
แต่จนถึงป่านนี้ อบต.หนองราชวัตรก็ยังไม่ส่งมอบที่ดินให้กรมธนารักษ์ตามมติประชาพิจารณ์ ทำให้การขุดค้นและพัฒนาพื้นที่ยังคงทำได้อย่างเนิ่นช้าและยากลำบากเช่นเดิม
นักโบราณคดีกรมศิลปากร กล่าวว่า “แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรมีอายุ 4,000 ปี ถือเป็นแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากมีลักษณะเฉพาะทางอารยธรรมยุคหินใหม่ล้วนๆ โดยไม่มีอารยธรรมสมัยอื่นที่ใหม่กว่า เช่น ยุคสำริด ยุคโลหะร่วมเจือปนอยู่ในพื้นที่ด้วย เหมือนอย่างกรณีบ้านเชียง จ.อุดรธานี หรือบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี ทำให้แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรเป็นแหล่งอารยธรรมยุคหินใหม่ในประเทศไทยที่โดดเด่นที่สุดในภาคตะวันตกเชื่อมโยงถึงจีนตอนใต้”
นับเป็นเวลา 17 ปี ตั้งแต่เริ่มขุดค้นใน พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางความยากลำบากเนื่องจากข้อติดขัดต่างๆ นานาดังกล่าว กรมศิลปากรจึงเพิ่งขุดค้นไปได้แค่เพียง 500 ตารางเมตร จากจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรซึ่งคาดว่าครอบคลุมพื้นที่ถึง 20 ไร่
แค่พื้นที่เพียงเท่านั้นกรมศิลปากรก็ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณถึง 129 โครง และโบราณวัตถุยุคหินใหม่อีกนับพันชิ้น หากสามารถขุดค้นเต็มพื้นที่ทั้งหมดได้เมื่อใด นักโบราณคดีคาดว่าจะค้นพบโครงกระดูกอีกหลายพันโครงและเศษโบราณวัตถุอีกนับแสนชิ้น
ฟังเรื่องราวแล้วรู้สึกเศร้าใจ คงต้องขออาศัยบารมีของ นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และสำคัญที่สุด คือ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โปรดกรุณาร่วมกันประสานเปิดทาง ขจัดปัดเป่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อรักษาและพัฒนาแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ซึ่งเป็นสมบัติสำคัญของชาติไว้ให้ลูกหลานสืบไปด้วยเทอญ