ชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม บุก วธ.ยื่นหนังสือถึง รมว.วัฒนธรรม จี้แก้ปัญหาการทำลายโบราณสถานในประเทศไทย วอนให้กรมศิลป์เร่งบูรณะโบสถ์วัดราชาฯ เหตุน้ำรั่วซึม
วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม มายื่นหนังสือเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง ขอให้ผลักดันแก้ปัญหาการทำลายโบราณสถานในประเทศไทย พร้อมส่งตัวอย่างภาพความเสียหายของโบราณสถาน โดยมี นายประดิษฐ์ โปซิว ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม และ นายสตวัน ฮ่มซ้าย รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้รับหนังสือ
ทั้งนี้ ในหนังสือเปิดผนึกมีใจความว่า จากการที่มีโบราณสถานในประเทศไทยถูกทำลาย หรือถูกทำให้เสียหายครั้งแล้วครั้งเล่าต่อเนื่องนับศตวรรษ จะด้วยสาเหตุแห่งความไม่รู้, หน่วยงานที่รับผิดชอบละเว้นการปฏิบัติหน้าที่, การมีผลประโยชน์แอบแฝงก็ตาม หรือสาเหตุใดก็ตาม เมื่อพิจารณาแล้วมีอย่างน้อย 2 หน่วยงานภายใต้การกำกับของท่านเป็นผู้ดูแล คือ
กรมศิลปากรและกรมการศาสนา โดยมีหน่วยงานต่างกระทรวงเกี่ยวข้อง อาทิ กรมป่าไม้และกรมธนารักษ์ เป็นต้น
การดูแลรักษาโบราณสถานทุกรูปแบบเป็นการรักษารากเหง้า ฉายให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความ
เป็นมา วิถีชีวิต ร่องรอยทางอารยธรรมและพัฒนาการของชาติ ชุมชน สังคม ซึ่งนานาอารยประเทศต่างหวงแหนให้ความสำคัญ โตยประเทศของเราโชคดีที่มีความอุดมหลากหลายด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี มีสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม โบสถ์วิหาร อันทรงคุณค่ามากมาย แม้ว่าจะมีความทับซ้อนในทางปฏิบัติที่จะดูแลโบราณสถาน แต่ก็มิใช่อุปสรรคที่จะบริหารจัดการไม่ได้ และหน่วยงานที่จะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานให้เกิดความร่วมมือหรือทางออกในการอนุรักษ์ทั้งในเรื่องนโยบาย งบประมาณ ตลอดจนการดำเนินงาน ก็คือ กระทรวงวัฒนธรรม
ชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม จึงขอเรียนมายังท่านในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เพื่อโปรด
พิจารณาดำเนินการในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 5 ประเด็น คือ 1. โปรดสั่งการให้กรมศิลปากรเร่งขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั่วประเทศโดยเร็วที่สุดอย่าประวิงเวลา 2. โปรดสั่งการให้กรมศิลปากรเคร่งครัดในการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ทำลายโบราณสถาน อาทิที่ อาคารโบราณสถานบอมเบย์เบอร์ม่า ในจังหวัดแพร่ ที่ถูกทุบทำลายทั้งหลัง สิมโบราณ ที่ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งถูกแปลงสภาพปรับเปลี่ยนเป็นสีชมพู หรือที่วัดบางด้วนนอก ตำบลบางด้วน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้ทำลายพระพุทธรูปสมัยอยุธยา และทุบอุโบสถเก่าทิ้งทั้งหลัง เป็นต้น 3. ขอให้กระทรวงวัฒนธรรม ประสานความร่วมมือหาทางออกในข้อขัดแย้ง หรืออุปสรรคอื่นใด ทีคาบเกี่ยวความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานในการประกาศให้เป็นโบราณสถาน หรือการอนุรักษ์โบราณสถาน
4. จากข้อจำกัดในการดำเนินงานต่างๆ ของกรมศิลปากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณเวลา
หรือบุคลากร จึงขอให้เร่งสร้างซ่องทางเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล หรือบูรณโบราณสถานตามสิทธิที่ระบุในรัฐธรรมนูญ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริมภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ (มาตรา 43) โดยกรมศิลปากรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยงเรื่องความถูกต้องในการดูแลบูรณะ และ 5. โปรดแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หรืออื่นๆ ที่เป็นการรวบอำนาจไปที่อธิบดีกรมศิลปากร เพราะเป็นอุปสรรค ส่งผลต่อประลิทธิภาพของการดำเนินงาน และบางครั้งอาจมีข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใส
หากมีประเด็นตกหล่น หรือมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็ขอท่านได้โปรดอำนวยการเพื่อนำไปสู่
การแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายหลักที่ขัดเจน คือ นับจากวันนี้จะต้องไม่มีโบราณสถานอื่นใดในประเทศไทยถูกทำลายอีก
นายวรา กล่าวฝากเรื่องการบูรณะพระอุโบสถวัดราชาธิวาส ว่า ถูกน้ำเซาะซึมมานานแล้ว ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน จะทำให้ผนัง และเพดาน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ได้ร่างแบบแล้วให้ นายช่างเอก ชาวอิตาลี ที่ทำงานในประเทศไทย เป็นคนระบายสี ซึ่งไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ จะต้องรักษาเอาไว้ ซึ่งเชื่อว่าวัดราชาฯมีเงิน ขอฝากให้ทุกฝ่ายช่วยเข้าไปจัดการบูรณะ เพื่อป้องกันการเสียหายด้วย
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า ในกรณีอาคารโบราณสถานบอมเบย์เบอร์ม่า จังหวัดแพร่ ที่ถูกรื้อไปนั้น กรมศิลป์มีช่างฝีมือ เชื่อว่า จะสามารถทำกลับได้ แต่จะทำให้เหมือนเดิม 100% คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะทำให้ใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด และในส่วนของรากฐานจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ การทำลายโบราณสถาน ก็คือ กฎหมาย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ใช้มานานและเขียนกว้างๆ ซึ่งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ก็เห็นปัญหาเรื่องนี้ พยายามยกร่างกฎหมายหลายครั้ง จึงเกิดความล่าช้า นอกจากนี้ คนที่ครอบครองโบราณสถานเข้าไม่รู้ว่าตัวเองครอบครองอยู่ อีกอย่างการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรก็ต้องใช้เวลาในการสำรวจนาน เพราะว่ามีพื้นที่ในความดูแลจำนวนมาก ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์มายาวนาน ซึ่ง วธ.ตระหนักดี เราเน้นแก้ไข ส่วนการดำเนินคดีแก้ผู้ทุบทำลาย ขอยืนยันว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ตรวจสอบกฎหมาย กรมศิลปากร เป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ แต่ไม่มีอำนาจไปแจ้งความดำเนินคดี เพราะไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานปกครอง ซึ่งกรมศิลปากร ทำได้เพียงแจ้งตำรวจ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเท่านั้น
“ในปีหน้า จะของบฟื้นฟูโบราณสถาน โบราณวัตถุ และแก้ไข พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ และสิ่งที่ท่านเสนอเป็นสิ่งที่ถูกใจกระทรวงวัฒนธรรม ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีความรักความหวงแหนในโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในเรื่องของวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้จะคงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป และเชื่อว่าข้อเสนอนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะนำไปทำเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้” นายประดิษฐ์ กล่าว
นายสตวัน กล่าวถึงวัดราชาฯ ว่า กรมศิลปากร ได้ลงไปสำรวจความเสียหายแล้ว และจะดำเนินการบูรณะอนุรักษ์พระอุโบสถ์ และอื่นๆ ให้เหมือนเดิมต่อไป
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร มีหลักฐานส่วนโครงสร้างอาคารบอมเบย์เบอร์ม่า ซึ่งในส่วนภายใน อาจจะมีหลักฐานบางส่วนที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ จะมีการประสานขอแบบจากทางกรมอุทยานฯ ว่า มีแบบภายในหรือไม่ แต่หากไม่มีฉบับสมบูรณ์ ก็จะได้รับทราบส่วนหนึ่งว่า มีนักศึกษาปริญญาโท ม.ศิลปากร ที่ได้ทำวิทยานิพนธ์ เกี่ยวกับการอนุรักษ์อาคารบอมเบย์เบอร์ม่า ซึ่งอยู่ระหว่างประสานงานไป คาดว่า จะมีรายละเอียดการแบ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมภายใน แล้วนำมาประกอบกับหลักฐานที่กรมศิลปากรมีอยู่ นอกจากนี้ ยังเปิดให้ประชาชนที่เคยไปเที่ยว เคยถ่ายรูปอาคารบอมเบย์เบอร์ม่า ส่งภาพเข้ามาเพื่อใช้อ้างอิงในการบูรณะด้วย และระหว่างที่จะมีการบูรณะคืนสภาพเดิม กรมศิลปากร ก็จะดำเนินงานในส่วนการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย เพื่อที่สามารถทราบการวางผังอาคาร ชั้นดิน พื้นชั้นล่างว่าผ่านมากี่ยุคสมัยแล้ว โดยขณะนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการสำรวจ จัดทำบัญชีตัวไม้ ลวดลายงานศิลปกรรม แยกประเภทหมวดหมู่ของหลักฐานที่เหลืออยู่สำหรับนำกลับมาใช้งานไว้แล้ว