คณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ปนัดประชุมสมัยพิเศษ ขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว 18 บทจาก 20 บท เตรียมรายงานรัฐมนตรีอาร์เซ็ปที่จะประชุมผ่านทางไกล 23 มิ.ย.นี้ คาดลงนามปลายปีนี้ตามเป้าที่ผู้นำตั้งไว้ เผยล่าสุดอินเดียยังไม่พร้อมร่วมวงเจรจา แต่สมาชิกยังเปิดโอกาสให้กลับเข้ามาได้ทุกเมื่อ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ปสมัยพิเศษ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 10-11 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา ว่า ประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย ได้ยืนยันว่าเป้าหมายการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปใกล้เป็นความจริง โดยสมาชิกสามารถขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเสร็จแล้ว 18 บท จาก 20 บท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถลงนามความตกลงได้ในปลายปีนี้อย่างแน่นอน
“การประชุมมีความคืบหน้าและสามารถตกลงประเด็นคงค้างได้เกือบทั้งหมด โดยจะรายงานให้รัฐมนตรีอาร์เซ็ปรับทราบในการประชุมรัฐมนตรีสมัยพิเศษ ครั้งที่ 10 ที่จะจัดผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 23 มิ.ย.2563 ซึ่งถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ปครั้งแรกของปีนี้ โดยรัฐมนตรีจะร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ยังคงค้างอยู่ทั้งหมด รวมถึงประเด็นของอินเดีย เพื่อให้สามารถลงนามความตกลงในปลายปีนี้ ตามที่ผู้นำตั้งเป้าหมายไว้”
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ สมาชิกอาร์เซ็ปได้รับแจ้งจากอินเดียอย่างเป็นทางการว่าไม่สามารถยอมรับข้อเสนอของสมาชิกอีก 15 ประเทศ ที่ยื่นต่ออินเดีย เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2563 ได้ เนื่องจากยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องและข้อกังวลของอินเดีย โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลการค้ากับสมาชิกหลายประเทศ ทั้งนี้ แม้ว่าอินเดียยังไม่พร้อมเข้าร่วมความตกลงในปีนี้ แต่สมาชิกอาร์เซ็ปจะร่วมกันหาแนวทางเปิดโอกาสให้อินเดียกลับเข้ามาร่วมความตกลงในอนาคต
ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการเปิดเผยสาระสำคัญของความตกลงอาร์เซ็ป และเผยแพร่ข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงต่างๆ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเร็วๆ นี้ จะมีการจัดการสัมมนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเตรียมจัดสัมมนาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความตกลงอาร์เซ็ปแก่ทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น
สำหรับความตกลงอาร์เซ็ป ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพีกว่า 25.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.3% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ากว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 27.4% ของมูลค่าการค้าโลก