กรมการค้าต่างประเทศเผยรัฐนิวยอร์ก ปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ทำให้ผู้ผลิตต้องแจ้งข้อมูลสารเคมีอันตรายหรือสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงต่อกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แนะผู้ประกอบการไทยศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค์ต่อการส่งออกของไทย
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐฯ ได้มีการปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นพิษในผลิตภัณฑ์เด็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Senate Budget Bill S7505 โดยกำหนดให้ผู้ผลิตจะต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายหรือสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงต่อกรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Department of Environmental Conservation : DEC) และมีการกำหนดอายุของเด็กและผลิตภัณฑ์ของเด็กภายใต้กฎหมายฉบับนี้ โดยได้มีผลบังคับใช้แล้ว
กฎหมายฉบับนี้ ควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เด็กทารก ของเล่น เบาะติดรถยนต์ อุปกรณ์ในโรงเรียน ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบหรือผลิตซึ่งช่วยเด็กในการดูดหรือกัด การนอน การพักผ่อน หรือการกินอาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมสร้างพัฒนาการสำหรับเด็ก เครื่องประดับ เครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกายและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น แต่ไม่รวมถึง 1.แบตเตอรี่ 2.เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องเสียงและอุปกรณ์วิดิโอ เครื่องเล่นเกม และอุปกรณ์ที่ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ เช่นปลั๊ก คีย์บอร์ด หูฟัง 3.อุปกรณ์กีฬา 4.ชุดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์รวมถึงอุปกรณ์ทางเคมีและจรวดจำลอง 5.ของเล่นโดยใช้เครื่องกล 6.ยานยนต์ เรือ รถสะเทินน้ำสะเทินบกและส่วนประกอบ
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขกฎหมายในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับสารพิษในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่น ข้อปฏิบัติการใช้สารเคมีอันตราย และสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง ขอบเขตในการใช้สารเคมีสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของเด็ก แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายหรือแจกฟรี โดยยกเว้นข้อกำหนดในการรายงานให้กับธุรกิจขนาดเล็กและร้านค้าปลีก เพิ่มคำจำกัดความสำหรับ การเติมสารเคมีโดยเจตนา (intentionally added chemical) สารปนเปื้อน (trace contaminant) สารตกค้างยาวนานและสะสมในสิ่งมีชีวิต (very persistent and very bioaccumulative) ในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค
ขณะเดียวกัน ได้กำหนดสารเคมี 7 ประเภท ให้เป็น สารเคมีที่มีความเสี่ยงสูง (high priority chemicals) ได้แก่ สาร (Tris (1,3 dichloro-2-propyl) phosphate สาร Benzene สาร Mercury and mercury compounds แร่ใยหิน (Asbestos) สาร Arsenic and arsenic compounds สาร cadmium (นอกเหนือจากสารเคลือบในของเล่น) และสารหน่วงการติดไฟชนิด Organohalogen ในเบาะหุ้มเตียงหรือเฟอร์นิเจอร์ และห้ามขายผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่มีสาร tris (1, 3 dichloro-2-propyl) phosphate เบนซีน (benzene) หรือ แร่ใยหิน (Asbestos) เป็นต้น
ทั้งนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นเด็กไปสหรัฐฯ (พิกัด 9503) ในช่วงปี 2560-2562 มูลค่า 1,765.9 1,996.3 และ 2,483.2 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งในปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 1,768.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หากผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.intertek.com/consumer/insight-bulletins/new-york-updates-toxic-chemicals-in-childrens-product-law ในการเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อย่างไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าของไทย