หากเอ่ยถึงคำว่า “บล็อกเชน (Blockchain)” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงแวดวงการเงิน การตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน การติดตามเงิน โดยที่เห็นได้ชัดและเริ่มใช้บล็อกเชนมาก่อน ก็คือ การตรวจสอบสกุลเงินบนโลกดิจิทัล หรือบิตคอยน์ แต่ต่อมาได้มีการนำระบบบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับสินค้าและบริการที่หลากหลายขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจ และเรียกความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) หนึ่งในหน่วยงานมันสมองของกระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของบล็อกเชน จึงได้เดินหน้าจัดทำโครงการใช้บล็อกเชนเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรของไทย มีเป้าหมายเพื่อช่วยยกระดับภาคเกษตรของไทยให้ทันตามการค้าขายระดับสากล ช่วยสร้างรายได้และสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรไทย
ประโยชน์ของบล็อกเชน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ระบบบล็อกเชนที่นำมาใช้จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หมด โดยตรวจได้ตั้งแต่การเพาะปลูกว่าปลูกจากที่ไหน เป็นข้าวอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะในที่นาจะมีการติดตั้งกล้องเพื่อตรวจสอบการเพาะปลูก ซึ่งระยะแรกอาจจะยังเป็นแค่แนวคิด แต่ในอนาคตจะเกิดขึ้นและมีความเป็นไปได้เพื่อรองรับสมาร์ทฟาร์มมิ่ง จากนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือบรรจุ ก็ตรวจสอบได้ว่าผลิตที่ไหน เมื่อขอใบรับรองคุณภาพข้าว หรือใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานรัฐก็สามารถตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจสอบหรือออกใบรับรอง และจะเชื่อมโยงไปจนถึงสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นระยะต่อไปที่จะต่อยอดในการดำเนินการ เพื่อให้เข้ามาเป็นตัวกลางการรับจ่ายเงิน หลังจากที่ข้าวถูกขายไป ซึ่งจะรู้ว่าขายให้ใคร ส่งไปประเทศไหน
นอกจากนี้ ผลของการนำระบบบล็อกเชนมาใช้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าวอินทรีย์ของไทย จากการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ช่วยลดปัญหาการถูกปฏิเสธจากผู้ซื้อ การปลอมปนสินค้า และการถูกสวมสิทธิใบอนุญาต ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น ส่วนผู้ซื้อ สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวอินทรีย์ได้ หรือหากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น มีการตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ข้าวอินทรีย์จริง ก็สามารถที่จะปฏิเสธข้าวเป็นล็อตๆ ได้ ไม่ใช่ปฏิเสธทั้งหมด
ความคืบหน้าของโครงการ
สำหรับความคืบหน้าการนำบล็อกเชนมาใช้ตรวจสอบสินค้าเกษตร น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดคุยกับเกษตรกร และทำการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุง หรือผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ไปแล้ว เกิดความร่วมมือในการเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก ไปจนถึงการผลิต
ส่วนในด้านระบบตรวจสอบ ได้มีการหารือกับหน่วยงานรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ (CB) ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ออกใบอนุญาต หรือใบรับรองสินค้าเกษตร ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อเดินหน้าโครงการไปแล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งทุกภาคส่วนพร้อมที่จะช่วยผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ
นำร่องสินค้า “ข้าวอินทรีย์”
น.ส.พิมพ์ชนกระบุว่า ตามเป้าหมายจะนำระบบบล็อกเชนมาใช้กับสินค้าเกษตรของไทย แต่เพื่อให้มองภาพได้ชัดเจน และเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการค้าขายจริง จึงได้เลือกสินค้านำร่องขึ้นมาก่อน คือ “ข้าวอินทรีย์” เพราะเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง มีศักยภาพในการส่งออก มีขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่ชัดเจน การนำบล็อกเชนมาใช้จะทำให้สามารถตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าได้อย่างเป็นระบบ ช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่า สร้างความเชื่อมั่นและตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อและตลาดผู้นำเข้า ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ได้ว่าเป็นข้าวอินทรีย์จริงตามที่ได้รับรองมาตรฐาน
“สนค.เห็นว่าภาคเกษตรและอาหารไทยควรมีระบบต้นแบบที่จะช่วยให้ประเทศคู่ค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางของสินค้าเกษตรอาหารจากไทยได้ ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นพื้นฐานของระบบการตรวจสอบดังกล่าว เพราะแก้ไขข้อมูลได้ยาก ระบบมีความโปร่งใส และคุ้มครองความลับทางการค้าและข้อมูลของเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในระบบได้พร้อมๆ กัน จึงจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ตลอดจนต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าในอนาคตได้อีกมาก” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
เปิดเว็บไซต์ TraceThai ใช้ตรวจสอบ
หลังจากจัดวางระบบและมีเป้าหมายการทำงานชัดเจน สนค.ได้เดินหน้าอีกขั้นด้วยการมอบหมายให้ผู้แทนไปยื่นขอจดโดเมนเนม TraceThai.com เพื่อจะเป็นชื่อสำหรับระบบบล็อกเชนให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่กำลังดำเนินการอยู่
สำหรับระบบบล็อกเชน TraceThai.com เป็นระบบที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่เกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการต่างๆ ที่ผลิตและค้าขายส่งออกสินค้าข้าวอินทรีย์ โดยผู้ที่เข้ามาใช้ต้องได้รับใบรับรองจากหน่วยงานที่เป็นผู้ดูแลมาตรฐานอินทรีย์ (Certifying Bodies : CB) เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ใช่ระบบที่ไปออกใบรับรองให้พื้นที่ของเกษตรกร แต่หากท่านมีใบรับรอง ระบบก็จะช่วยในการส่งต่อและกระจายข้อมูลให้กับผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในระบบให้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตไปได้หลายๆ แห่งพร้อมกัน ไปจนถึงผู้นำเข้า ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมาก
ต่อยอดรับรองสินค้าเกษตรอื่นได้
นอกจากนี้ ระบบ TraceThai.com ไม่ได้ออกแบบให้ใช้เฉพาะกับข้าวอินทรีย์เท่านั้น แต่ในอนาคตสามารถนำไปใช้กับสินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร หรืออาหาร หรือแม้แต่สินค้าอะไรก็ได้ที่ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับ ถือเป็นระบบตรวจสอบย้อนกลับแรกของไทยสำหรับสินค้าเกษตรและอาหารที่รัฐบาลช่วยตั้งขึ้น ส่วนที่เลือกทำข้าวอินทรีย์ก่อนในชั้นนี้เป็นสินค้านำร่อง เพื่อดูความยากง่ายและจุดที่อาจเป็นปัญหาในการนำข้อมูลเข้าระบบบล็อกเชน และข้าวอินทรีย์ก็เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอยู่แล้ว
ล่าสุดโครงการต้นแบบสำเร็จแล้ว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการ ขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นที่ปรึกษาโครงการได้ดำเนินการในระยะแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ การศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบระบบต้นแบบบล็อกเชน การตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน โรงสี สหกรณ์ ผู้ประกอบการทั้งผู้ค้าในประเทศ และผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ รวมถึงหน่วยงานผู้ตรวจรับรองมาตรฐาน (Certified Body) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมศุลกากร
ทั้งนี้ ในวันที่ 9 มิ.ย.2563 สนค.จะจัดงานสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางการพัฒนาระบบต้นแบบ โดยตั้งเป้าว่าจะเปิดให้ทดลองใช้จริงได้ในเดือน ต.ค. 2563
ลงพื้นที่ติดตามผล
เมื่อทุกอย่างลงตัว แต่การทำงานไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ทุกวันนี้ยังได้ส่งทีมลงพื้นที่ไปตรวจสอบความคืบหน้าเป็นระยะๆ เพื่อติดตามผลการบันทึกข้อมูลและการแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ TraceThai.com โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่ไปยังวิสาหกิจชุมชนเกษตรทุ่งทองยั่งยืน เพื่อเยี่ยมชมแปลงนาข้าวอินทรีย์ และบริษัท ซองเดอร์ออร์แกนิคฟู้ด จำกัด อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิต
โดยผลการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่าผลผลิตข้าวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกร 8 ราย ในพื้นที่ 170 ไร่ 60% ขายให้กับร้าน Lemon Farm ใช้มาตรฐาน PGS ของเลมอนฟาร์ม และขายให้บริษัท ซองเดอร์ 40% เพื่อนำไปผลิตโจ๊กและอาหารเด็กอินทรีย์ โดยอาหารเด็กอินทรีย์ใช้มาตรฐาน IFOM, EU Organic, USDA รับรองโดยมาตรฐานเกษตรกรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (มกท.) โดยซองเดอร์มีตลาดขายในประเทศ 90% เช่น เลมอนฟาร์ม, โมเดิร์นเทรด และร้านสุขภาพ และส่งออก 10% เช่น ฮ่องกง จีน มาเลเซีย
“ทางกลุ่มเกษตรกรบอกว่าเห็นประโยชน์ของการเข้าร่วมระบบนำร่อง เพราะระบบตรวจสอบย้อนกลับช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ผู้ขายและผู้ซื้อข้าวอินทรีย์ได้อย่างมาก จากที่ทำในกระดาษหรือโทร.แจ้งกัน เป็นส่งข้อมูลกันในระบบและบันทึกลงบล็อกเชน ทำให้น่าเชื่อถือ ขณะที่บริษัทซองเดอร์บอกว่า ประโยชน์ของบล็อกเชนช่วยตรวจสอบย้อนกลับและยืนยันไปถึงต้นน้ำว่าเป็นข้าวอินทรีย์จริง โดยยินดีร่วมกรอกข้อมูลในระบบนำร่อง และพร้อมที่จะพัฒนาในขั้นต่อไป เช่น การใส่ Serial Number หรือ QR Code บนบรรจุภัณฑ์ การหารือกับลูกค้าของซองเดอร์เรื่องกรอกข้อมูลเข้าระบบ เป็นต้น” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
ไม่เพียงแค่นั้น การนำระบบนี้มาใช้ยังดึงดูดให้สถาบันการเงินเข้ามาร่วม โดยล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้ด้วย
ขอเกษตรกรเปิดใจทำแล้วดีแน่
อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่พบว่ายังมีเกษตรกรบางรายเห็นว่าการบันทึกข้อมูลในระบบจะเป็นการเพิ่มงานหรือไม่ เพราะทำแบบเดิม (ปลูกข้าวอินทรีย์) ก็ขายไม่พออยู่แล้ว ซึ่งทีมงานได้ชี้แจงไปว่าข้อดีระบบนี้ นอกจากสร้างความเชื่อมั่นให้ค้าขายดีขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดงานกระดาษ ลดเวลาทำงาน จึงอยากให้เปิดใจทดลองใช้งาน เพราะระยะยาวดีกว่านี้แน่
มาถูกที่ถูกเวลา ช่วยสู้วิกฤตโควิด-19
น.ส.พิมพ์ชนกสรุปสิ่งที่จะเกิดขึ้น และสิ่งที่หวังจากโครงการนี้ว่า หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราก็พบว่าสินค้าเกษตรอาหารของไทยจะกลายเป็นการส่งออกที่สำคัญ เป็น new normal products ซึ่งการมีมาตรฐานรองรับในด้านต่างๆ จะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับโลกอนาคต ซึ่งการนำบล็อกเชนมาสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับภาคเกษตรอาหารไทยได้ดีมากขึ้น
“เราหวังว่าการวางระบบตรวจสอบย้อนกลับให้กับสินค้าเกษตรและอาหารจะมีส่วนช่วยพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยหลังโควิด-19 ได้เร็วขึ้น และช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาการค้าในประเทศและการส่งออกได้อย่างเข้มแข็ง ยั่งยืนได้” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว