xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.” เด้งรับ “ศักดิ์สยาม” ตั้งทีมศึกษา PPP เดินรถสายสีแดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาโมเดล PPP เดินรถไฟสายสีแดงตามนโยบาย “ศักดิ์สยาม” เปรียบเทียบการบริหารจัดการ ตัวเลขความคุ้มทุน และข้อกฎหมาย กับรูปแบบ ตั้งบริษัทลูก คาดสรุปได้ใน 3-4 เดือน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เห็นว่า ร.ฟ.ท.ควรใช้แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในการเดินรถและก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยายนั้น ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางการดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) เดินรถสายสีแดงเปรียบเทียบกับรูปแบบเดิม คือจัดตั้งบริษัทลูกเดินรถสายสีแดงว่ารูปแบบใดจะมีความเหมาะสมและดีที่สุด และเป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งคณะทำงานได้เริ่มทำงานแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน

นอกจากนี้ จะต้องศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้ครบถ้วนทุกมิติ และเพื่อให้รอบคอบมากที่สุดสำหรับนำมาประกอบการพิจารณา เช่น เรื่องข้อกฎหมาย เรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน และการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลและตัวเลขในรูปแบบของการตั้งบริษัทลูกอยู่แล้ว คณะทำงานจะศึกษาข้อมูลในรูปแบบ PPP เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน เป็นการศึกษาต่อยอด จึงไม่น่าจะใช้เวลานาน

“จากที่ รมว.คมนาคมระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับเรื่อง PPP เดินรถสายสีแดงนั้น เพราะเดิมอาจจะไม่คิดที่จะทำ PPP หรือคิดแล้วแต่อาจจะยังทำไม่ได้ แต่ขณะนี้มีโอกาสที่ทำได้แล้ว ร.ฟ.ท.ต้องศึกษา เป็นการเปลี่ยนโมเดล รูปแบบการเดินรถ แต่ราง โครงสร้างก็เป็นอันเดียวกัน” นายนิรุฒกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 63 นายนิรุฒ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและเปรียบเทียบการบริหารจัดการการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ระหว่างการรถไฟฯ กับการให้เอกชนร่วมลงทุน โดยมีนายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประธานคณะทำงาน และมีวิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ร.ฟ.ท.เป็นรองประธานคณะทำงาน โดยมีผู้แทนกรมการขนส่งทางราง, กระทรวงคมนาคม, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รมว.คมนาคมได้ระบุถึงการปรับโมเดลเดินรถไฟสายสีแดงเป็น PPP นั้น จะเป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างในสายสีแดงส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาทด้วยเพื่อช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐที่มีความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณในด้านอื่นๆ นอกจากนี้ การก่อสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตมีปัญหาความล่าช้า ไม่สามารถเปิดเดินรถได้ในเดือน ม.ค. 2564 ตามแผน โดยประเมินว่าจะต้องเลื่อนเปิดเดินรถออกไปไม่น้อยกว่า 1 ปีแน่นอน ทำให้มีเวลาเพียงพอในการศึกษาและดำเนินการรูปแบบ PPP เดินรถ


กำลังโหลดความคิดเห็น