บอร์ด รฟม.อนุมัติขยายเวลาก่อสร้างโมโนเรลสายสีชมพูอีก 1 ปี เหตุส่งมอบพื้นที่ล่าช้า เผยจุดสถานีวัดพระศรีฯ หนักสุด ยันแผนเปิดเดินรถช่วงแรก ต.ค. 64 จากมีนบุรี-ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สั่งประเมิน “โควิด” ก่อนเคาะต่อลดค่าตั๋ว “สีม่วง”
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.วันนี้ (20 พ.ค.) ได้เห็นชอบขยายเวลาการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี อีก 365 วัน เร่งรัดการเปิดเดินรถให้ได้ตามสัญญาในเดือน ต.ค. 64 โดยหารือร่วมกับ บริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM ผู้รับสัมปทานเพื่อเปิดเดินรถแบ่งเป็นช่วงๆ (Partial) ซึ่งแนวเส้นทางสายสีชมพูจะตัดกับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียวเหนือ จะแก้ปัญหาการจราจรถนนรามอินทรา และแจ้งวัฒนะได้
ทั้งนี้ ตามแผนงานจะมีการเปิดเดินรถ 3 ช่วง โดยช่วงที่ 1 จากสถานีมีนบุรี (เดปโป้)-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ เปิดให้บริการ ต.ค. 64, ช่วงที่ 2 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ-สถานีกรมชลประทาน เปิดให้บริการเดือน เม.ย. 65, ช่วงที่ 3 สถานีกรมชลประทาน-สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี หรือเปิดให้บริการตลอดสายใน ต.ค. 65
“การก่อสร้างหลายโครงการของ รฟม.ที่มีความล่าช้าเพราะการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งหากเป็นการใช้พื้นที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมด้วยกันจะมีการบูรณาการร่วมกัน ในฐานะที่ผมเป็นอธิบดีกรมทางหลวงด้วยจะเร่งพิจารณาประสานการใช้พื้นที่ให้เร็วเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งใน กทม.และภูมิภาค” นายสราวุธกล่าว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ประมาณ 8 จุด ตั้งแต่ถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ ส่วนใหญ่เป็นจุดก่อสร้างสถานี ซึ่งมีทั้งพื้นที่ราชการ ที่ราชพัสดุ และที่เอกชน บางรายยื่นศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว ทำให้กระทบต่อการเข้าพื้นที่ โดยจุดที่ล่าช้าที่สุดคือ สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมทางหลวง ให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานีตำรวจนครบาล บางเขน ซึ่งใช้เวลาถึง 430 วัน ในการเจรจาเพื่อปรับแบบและจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม โดยบอร์ดอนุมัติให้ขยายเวลาแค่ 365 วัน
จากการวางแผนเปิดให้บริการช่วงแรก จำนวน 19 สถานี โดยจะยังไม่หยุดจอดที่สถานีนพรัตนราชธานี และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เนื่องจากการก่อสร้างและทดสอบจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ส่วนระยะที่ 2 จะเปิดจำนวน 7 สถานี และระยะที่ 3 เปิดอีก 4 สถานีที่เหลือ และจอดทุกสถานีครบ ซึ่งภายในปลายปีนี้จะมีการทยอยส่งมอบขบวนรถ จากนั้นจะมีการทดสอบระบบช่วงเดือน เม.ย. 64 และทดสอบเดินรถเสมือนจริงช่วง ส.ค. 64 เปิดเดินรถช่วงแรก ต.ค. 64 ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารนั้นเป็นสิทธิ์ของเอกชนตามสัญญา ทั้งนี้ รฟม.จะมีการเจรจาอีกครั้งเนื่องจากเป็นการเปิดเดินรถไม่เต็มระบบตลอดสาย
สัญญาสายสีชมพู มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน (39 เดือน) หรือก่อสร้างเสร็จในเดือน ต.ค. 64 การขยายเวลาก่อสร้างอีก 1 ปี เป็น 4 ปี 3 เดือน และเริ่มนับอายุสัมปทานเดินรถ และซ่อมบำรุง 30 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. ปี 65 โดย รฟม.จะเริ่มจ่ายคืนค่างานโยธาให้เอกชนเป็นเวลา 10 ปี (120 เดือน) ตามสัญญา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บอร์ด รฟม.ได้เห็นชอบให้ต่อขยายเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง อีก 265 วัน จากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าแล้ว ซึ่ง รฟม.จะมีหนังสือแจ้งผู้รับสัมปทานต่อไป
@ สั่งประเมินผลกระทบ “โควิด” ก่อนเคาะขยายลดค่าตั๋วสีม่วง
นายสราวุธ ทรงศิวิไล กล่าวว่า บอร์ดได้ให้ รฟม.ประเมินผลการดำเนินงานและจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากที่มีการลดค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 62 นั้น และมีการต่อขยายไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 63 เนื่องจากมีเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง และการพิจารณาปรับลดค่าโดยสาร โดยให้นำเสนอบอร์ดในการประชุมครั้งหน้า