xs
xsm
sm
md
lg

อานิสงส์โควิด! ทั่วโลกต้องหันมองไทย “มั่นคงด้านสุขภาพ-แหล่งอาหารและการลงทุน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องงัดมาตรการปิดประเทศ ปิดเมือง (Lock Down) การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ฯลฯ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ ซึ่งไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวเช่นกันและดูจะทำได้ดีกว่าหลายประเทศเสียด้วยซ้ำ! เพราะนานาประเทศต่างก็ออกปากชื่นชมไทย

หลายคนแทบไม่อยากเชื่อว่าคนไทยจะมีความอดทนมาได้ขนาดนี้ ด้วยนิสัยที่รักสนุกและรักอิสระจนขึ้นชื่อว่าไร้ระเบียบวินัย แต่เมื่อถึงเวลาคับขันคนไทยได้แสดงพลังให้โลกเห็นว่า “ไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้” และแน่นอนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงเฉลี่ยเพียงวันละ 0-1 คน ณ ช่วงวันที่ 13-14 พ.ค.นั้นก็ทำให้ไทยยิ่งโดดเด่นในการเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพมากขึ้นอีก จากปลายปี 2562 ที่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ได้สำรวจวิจัยประเทศที่มีความมั่นคงด้านสุขภาพ ในจำนวน 195 ประเทศของโลก ปรากฏว่าไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดอยู่อันดับ 1-10 ของโลก โดยอยู่อันดับ 6 และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

ไม่เพียงด้านสาธารณสุขของไทยที่โดดเด่นเพราะมีบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ ที่เข้มแข็งและมีศักยภาพแล้ว ประการสำคัญที่เราไม่อาจมองข้ามที่ทำให้ไทยก้าวมาสู่จุดประเทศที่บริหารการติดเชื้อโควิด-19 ได้ยอดเยี่ยมประเทศต้นๆ ของโลก นั่นเพราะคนไทยไม่ขาดแคลนอาหาร ระหว่างกักตัวหรือทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) อาหารคาว หวาน ผลไม้สด มีมาเสิร์ฟให้ถึงที่ตลอดเวลาผ่านทั้งรถพุ่มพวงตามหมู่บ้าน ผ่านตลาดสด หรือแม้กระทั่งอาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายตามออนไลน์ มีบริการสารพัดรูปแบบให้คนไทยเลือกสรร ขณะที่หลายประเทศอาหารขาดแคลน ซึ่งว่ากันว่าโควิด-19 ครั้งนี้จะทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น

นอกจากนี้แล้วไทยยังถือเป็นฐานการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ที่หลากหลายและรวมถึงวัสดุอุปกรณ์การแพทย์บางส่วนโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ทำให้ไทยหากไม่นับการกักตุนหน้ากากอนามัยแล้วก็มีการผลิตได้เหลือใช้ และไทยยังมีการปรับตัวการผลิตได้สูงที่จะมีหน้ากากผ้ามารองรับ และรวมถึงความเข้มแข็งในการเป็นฐานการผลิตปิโตรเคมีที่ทำให้สามารถดึงมาผลิตวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ในหลายส่วน

จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้และอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าว ทำให้ล่าสุด US News & World Report เผยผลการจัดอันดับประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ประจำปี 2563 หรือ Best Countries to Start a Business 2020 ก็ยังจัดให้ประเทศไทยติดอันดับที่ 1 ของโลก ประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ จากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก

ปรับบทบาทครัวโลกไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง

แม้โควิด-19 ในหลายประเทศจะเริ่มผ่อนคลายลงแต่โรคนี้น่าจะยังอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปีจนกว่าจะมีวัคซีนมารักษา แต่เศรษฐกิจทั่วโลกค่อนข้างชัดเจนว่าจะซบเซาไปอีกหลายปี จึงมีแนวโน้มว่าความมั่นคงด้านอาหารของโลกจะถูกบริหารจัดการมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มจำกัดการส่งออกอาหาร และกักตุนอาหารไว้สำหรับการบริโภคในประเทศมากขึ้นในอนาคต และประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าจะเร่งหาแนวทางพึ่งพาตนเองมากขึ้น

ประเทศไทยในฐานะที่มีรากฐานทางสังคมมาจากสังคมเกษตรกรรม บรรพบุรุษล้วนเป็นเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าว และยังสามารถทำการปศุสัตว์ได้เป็นอย่างดีทำให้มีวัตถุดิบในการแปรรูปอาหารมากมายทำให้ไทยส่งออกทั้งในรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารต่อเนื่องมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี จำเป็นต้องทบทวนบทบาทใหม่อีกครั้งเช่นกันเพราะโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของไทยวันนี้เล็กลงไปมาก ตลอด 20 ปีมานี้สังคมเกษตรกรส่วนใหญ่ล้วนย้ายไปสู่ภาคการจ้างงานและอุตสาหกรรม ทำให้กลายเป็นสังคมเกษตรอุตสาหกรรม ที่ค่อยๆ ทิ้งรากฐานทางเกษตรและก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันที่ต้องพึ่งพาการส่งออกจากภาคการผลิตสูงถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และเมื่อรวมกับภาคบริการสูงถึง 90% ขณะที่ภาคการเกษตรนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8-10% เท่านั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอยจะด้วยสาเหตุใดๆ หรือแม้กระทั่งโควิด-19 ล่าสุดเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะสินค้าเกษตรหลายชนิดได้กลายเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพิงตลาดส่งออกทั้งข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง น้ำตาล ฯลฯ และอีกส่วนเป็นเกษตรกรรมที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมจึงกระทบเป็นห่วงโซ่ เมื่อส่งออกกระทบย่อมทำให้ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ตกต่ำไปด้วย

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยไทยมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และเครื่องดื่มอยู่ประมาณ 53,642 โรงงาน ประกอบด้วย โรงงานแปรรูปเกษตรเบื้องต้น 43,725 โรงงาน, โรงงานอาหารแปรรูป 9,102 โรงงาน และโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 815 โรงงาน โดยมีมูลค่าการผลิตอาหารประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นจำหน่ายในประเทศประมาณ 2 ล้านล้านบาทต่อปี และส่งออกต่างประเทศประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี โควิด-19 ยังส่งผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่างๆ ของไทยให้สูงขึ้น


แต่ไม่อาจปฏิเสธว่ามูลค่าที่สูงขึ้นต่อเนื่องและไทยผงาดขึ้นเป็นครัวโลกนั้นเราได้ทิ้งให้เกษตรกรอยู่ข้างหลังแบบห่างไกลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างยาวนาน เกษตรกรส่วนใหญ่วันนี้ยังคงกลายเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำเช่นเดิมไม่ได้ต่างจากอดีต …. เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงฝนฟ้า บางส่วนขาดที่ดินทำกินเองต้องอาศัยการเช่าทำ ขาดเทคโนโลยีบริหารจัดการ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังต้องต่อสู้กับการกดขี่ราคาสินค้าจากพ่อค้าคนกลาง แม้ว่าจะมีสัญญาขายกับโรงงานหรือ Contract Farming ราคาก็ถูกกำหนดจากผู้ซื้อไม่อาจต่อรองได้ เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งรายได้ที่ปริ่มๆ กับรายจ่ายและบ่อยครั้งที่ต้องขาดทุนจนเป็นหนี้สิน

ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะหันมาทบทวนในการพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น เพราะภาคเกษตรคือหัวใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) และสร้างแหล่งอาหารที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตคนไทย ซึ่งปัจจัยที่จะหนุนสิ่งแรกที่ต้องเร่งพัฒนาคือการบริหารจัดการระบบน้ำในภาคเกษตรให้มากขึ้น โดยเฉพาะขยายระบบชลประทาน เพราะในข้อเท็จจริงไทยมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมากแต่กลับถูกทิ้งลงทะเลไปอย่างไร้ประโยชน์ เพราะน้ำจะทำให้เกษตรกรสามารถเลือกที่จะปลูกพืชที่มูลค่าสูงได้มากขึ้นเนื่องจากพืชบางอย่างต้องการน้ำในปริมาณที่มาก

ขณะเดียวกัน รัฐควรจัดวางโซนนิ่งเพื่อลดพื้นที่เพาะปลูกพืชที่มีจำนวนมากเกินความพอดีให้มีความเหมาะสมกับความต้องการในประเทศเป็นสำคัญ เพราะอะไรที่ล้นมากย่อมถูกกดราคาจากผู้รับซื้อ จัดหาพันธุ์พืชที่มีศักยภาพแนะนำเกษตรกรในการเพิ่มมูลค่าอย่างทั่วถึง รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี แต่ไม่ได้หมายถึงยัดเยียดหนี้ให้ชาวไร่ชาวนาเช่นทุกวันนี้และนำมาซึ่งการหลุดถือครองที่ดิน เป็นต้น

พลิกโฉมลงทุนสอดรับ BCG

โควิด-19 ครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงแหล่งอาหารที่จะเป็นความมั่นคง แต่ฐานการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคยังมีส่วนสำคัญที่จะต้องกลับมามองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะเกิดขึ้นที่หลายคนจะหันมาพึ่งพาตนเอง เน้นการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดห่วงโซ่ เพราะโควิด-19 ได้ทำให้หลายประเทศเห็นแล้วว่าการผลิตที่ไม่ครบวงจรได้ส่งผลกระทบให้ต้องหยุดการผลิตทั้งหมด และทำให้ไทยเองก็ต้องหันมาทบทวนเช่นกันเพราะการส่งออกของไทย 70% เมื่อเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ไทยก็จะประสบปัญหา ดังนั้นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจจึงควรวางให้ดีและควรลดสัดส่วนการพึ่งพิงตลาดส่งออกให้น้อยลง

การส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงต้องวางเป้าหมายให้ชัดมากขึ้น โดยรัฐบาลได้วางโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ BCG ที่ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าสุด ซึ่งถือว่าระดับยุทธศาสตร์นั้นได้เดินมาถูกทาง แต่ในทางปฏิบัติและรายละเอียดจำเป็นต้องวางเป้าให้ชัดและสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคและโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 (Post Covid-19) โดยก่อให้เกิดการเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมที่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้น และคำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและคนไทยโดยรวม

ยกระดับความมั่นคงด้านสาธารณสุข

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังทำให้หลายประเทศต้องหันมามองศักยภาพด้านสาธารณสุขของตนเองอย่างจริงจังซึ่งก็รวมถึงไทยด้วย เพราะอนาคตหากโควิด-19 ยังอยู่หรือกลายพันธุ์รุนแรงขึ้น หรือมีเชื้อใหม่เกิดขึ้น ก็ไม่ควรจะประมาทอีกต่อไป ดังนั้นการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ขั้นพื้นฐานจำเป็นต้องมีใช้ให้เพียงพอในประเทศยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ฯลฯ และยังรวมถึงอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องมือหลักที่มีเทคโนโลยีสูงที่ไทยเองยังต้องพึ่งพิงนำเข้าต่างๆ เหล่านี้ต้องมาทบทวนให้เกิดการผลิตในประเทศเพื่อความมั่นคง

เนื่องจากปี 2562 ไทยส่งออกเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ 106,027 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นวัสดุที่ใช้สิ้นเปลือง เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือทางการแพทย์ เข็มฉีดยา ฯลฯ ขณะที่มูลค่านำเข้าเท่ากับ 68,546 ล้านบาท แต่ช่วงโควิด-19 เราได้เห็นศักยภาพของคนไทยที่ช่วยกันสร้างหุ่นยนต์ อุปกรณ์ต่างๆ ในการปรับใช้ ซึ่งหากสามารถยกระดับมาตรฐานและร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อเชิงพาณิชย์นำมาสู่การใช้เองในไทย และเร่งรัดจัดตั้งศูนย์ทดสอบเครื่องมือแพทย์และสุขภาพในไทย จะช่วยให้ประหยัดงบประมาณสำหรับการส่งเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ไปวิจัยที่ต่างประเทศ ก็จะทำให้ประโยชน์นั้นตกแก่คนไทยและความมั่นคงย่อมมากกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งวัสดุหลายอย่างในไทยเองก็มีความเข้มแข็งในการรองรับการผลิตโดยเฉพาะปิโตรเคมี

ขณะเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้นำเสนอให้ภาครัฐให้ความสำคัญต่อสินค้า Made in Thailand เน้นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเฉพาะการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพจากผู้ผลิตไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขควรจัดทำบัญชีนวัตกรรมที่ควรจะเพิ่มรายชื่อบริษัทคนไทยให้มากขึ้น พร้อมกับอุตสาหกรรมการแพทย์ก็สามารถเชื่อมโยงไปยังภาคเกษตรได้ผ่านการพัฒนาสมุนไพรไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย ดังนั้น อุตสาหกรรมกลุ่มนี้จะมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ และการพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น

จะเห็นว่าทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมโยงไปยังภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง ซึ่งเราอาจมองข้ามตลอดระยะเวลาของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมา ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าวิกฤตอะไรจะเกิดขึ้นภายภาคหน้าไทยก็จะไม่ลำบากและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น