xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานเตรียมตัว! ผู้ผลิตรถและชิ้นส่วนรับเริ่มปลดคนชี้โควิด-19 ยืดเยื้อยิ่งกระทบสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.ยอมรับค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนฯเริ่มต้นทยอยปรับลดแรงงานที่มีอยู่ในระบบกว่า 7.5 แสนคนเพื่อให้สอดรับกับยอดจำหน่ายรถทั้งในและนอกที่ตกต่ำหนักจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ต้องลดลงตาม พุ่งเป้าพนักงานสัญญาจ้าง เปิดสมัครใจออกพุ่ง หากยืดเยื้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า จากผลกระทบโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและส่งออกชะลอตัวลงซึ่งยังกระทบต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ (ซัปพลายเชน) ทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีแรงงานรวมกว่า 7.5 แสนคน ทำให้ขณะนี้ยอมรับว่าค่ายรถยนต์ในประเทศกำลังปรับตัวลดพนักงานให้สอดรับกับการผลิตที่ลดลงโดยจะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งไทยและทั่วโลกว่าจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด


“ยอมรับว่ายอดจำหน่ายลดลงค่อนข้างมากและแม้ว่าค่ายรถยนต์ได้ปิดไลน์การผลิตไปในช่วงเดือน เม.ย.ทั้งเดือน แต่เดือน พ.ค.และ มิ.ย.ก็ทยอยกลับมาได้บางส่วนเพราะรถยังคงมีแนวโน้มค้างสต๊อกอยู่อีกพอสมควร และรัฐอาจผ่อนคลายล็อกดาวน์เฟส 2 แต่ก็มองว่ากำลังซื้อคงไม่ได้เพิ่มอะไรมากทั้งประเทศ การส่งออกก็เช่นกัน ประกอบกับโรงงานหากจะกลับมาผลิตก็ต้องเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ก็ยังทำให้อัตรากำลังการผลิตคงไม่ได้เพิ่มขึ้นแรงงานส่วนหนึ่งจึงเกินความจำเป็นและค่ายรถและชิ้นส่วนคงจะเลือกที่จะเลิกและลดคนเป้าหมายแรกจะเป็นกลุ่มพนักงานสัญญาจ้าง หรือ Subcontract ก่อนจากนั้นคงเป็นเรื่องสมัครใจออก และลดคนส่วนอื่นๆตามมา โดยยังคงพยายามรักษาแรงงานระดับฝีมือเอาไว้” นายสุรพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มรถยนต์ ส.อ.ท.ได้ประเมินไว้ว่าหากโควิด-19 ยืดเยื้อถึง มิ.ย.จะกระทบต่อการผลิตรถยนต์จากเป้าหมายเดิมปี 2563 วางไว้ว่าจะมีการผลิตรถยนต์ 1.9 ล้านคันก็จะเหลือเพียง 1.4 ล้านคัน และหากยืดเยื้อถึง ก.ย.-ต.ค.ก็จะเหลือเพียง 1 ล้านคันเท่านั้นหรือหายไปกว่า 50% ดังนั้นแรงงานจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่โควิด-19 ภาพรวมทั้งไทยและต่างประเทศว่าจะจบหรือผ่อนคลายได้มากน้อยเพียงใดเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มรถยนต์ ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อคลัสเตอร์รถยนต์ซึ่งจะรวมถึงการรักษาระดับการจ้างงานในกลุ่มนี้ไว้ให้มากที่สุดให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ ได้แก่ เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้กับผู้ที่นำรถเก่าที่มีอายุงาน 20 ปีไปแล้วที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคันมาเทิร์นเพื่อซื้อรถใหม่โดยรัฐจ่ายเงินส่วนต่างจำนวนหนึ่งซึ่งไม่เพียงกระตุ้นยอดขายแต่ยังช่วยลดปัญหามลพิษ PM 2.5 ลงไปด้วย เช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ และเยอรมนี เคยใช้เมื่อตอนฟื้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นอกจากนี้ยังได้เสนอให้รัฐผ่อนคลายในเรื่องของการยืดเวลาชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปที่จะครบการจ่ายในเดือนสิงหาคมนี้หากเป็นไปได้ยืด 1 ปีเพื่อนำเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนการใช้จ่ายซึ่งก็รวมถึงการคงรักษาระดับพนักงานเอาไว้ เป็นต้น


รายงานข่าวระบุว่า ล่าสุดยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน เม.ย.แบบไม่เป็นทางการทรุดหนักลงจากเดือนมีนาคมอีกกว่า 50% คือ ทำยอดขายได้แค่ 33,300 คันเท่านั้นซึ่งประเมินกันว่าจะตกต่ำสุดรอบ 10 ปี จึงทำให้สถานการณ์การผลิตรถยนต์ต้องลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดส่งออกก็ยังคงคาดการณ์ว่าจะลดเช่นกันหลังตลาดหลักๆ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป โควิด-19 ยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและตายสะสมเพิ่มขึ้น ดังนั้น ค่ายรถต่างๆ จึงเริ่มปรับนโยบายด้านคนแล้ว อาทิ ค่ายรถยนต์ฟอร์ด และมาสด้ามีนโยบายลดคนพร้อมจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานและหันไปใช้เอาต์ซอร์สแทน มิตซูบิชิก็มีการเปิดโครงการสมัครใจลาออก นิสสันเมื่อ 7 พ.ค.ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับพนักงานสัญญาจ้าง 300 คนจาก 1,900 คน เพื่อดูความชัดเจน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น