การเคหะแห่งชาติย้ำเตือนลูกค้าโครงการ-ผู้ประกอบการรายย่อยเช่าแผงตลาด เร่งลงทะเบียนรับสิทธิช่วยเหลือผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์หรือเว็บไซต์ ก่อนหมดเขต 15 พฤษภาคมนี้
นายวิญญา สิงห์อินทร์ รักษาการผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ย้ำเตือนกลุ่มลูกค้าการเคหะแห่งชาติ ทั้งชาวชุมชนที่อาศัยในโครงการและผู้ประกอบการร้านค้าที่เช่าแผงตลาดของการเคหะแห่งชาติที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ให้เร่งลงทะเบียนรับสิทธิช่วยเหลือผ่านทางแอปพลิเคชัน Line ID : @NHA.THAILAND หรือ Website https : @//covid.nha.co.th ก่อนหมดเขตรับสิทธิภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
ทั้งนี้ นับแต่เกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 การเคหะแห่งชาติได้ออกมาตรการช่วยเหลือ 2 ด้านหลัก ประกอบด้วย มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านการสังคม
สำหรับมาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 3 เดือน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าสัญญาเช่าซื้ออาคาร/อาคารพร้อมที่ดิน/ที่ดินแปลงโล่ง โดยสัญญาเช่าซื้อจะขยายออกไปอีก 3 เดือน มาตรการพักชำระเงินมัดจำ/เงินจอง (เงินดาวน์) 3 เดือน สำหรับลูกค้าสัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญาจอง โดยสัญญาจะขยายออกไปอีก 3 เดือน มาตรการปลอดค่าเช่า 3 เดือน สำหรับลูกค้าสัญญาเช่าอาคาร/อาคารพร้อมที่ดิน/ที่ดิน แผงตลาด ร้านค้ารายย่อยที่ทำสัญญาโดยตรงกับการเคหะแห่งชาติ และผู้เช่ารายย่อยที่ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าเหมาอาคาร และมาตรการลดค่าเช่า 50% ระยะ 3 เดือน ให้ผู้เช่าร้านค้ารายย่อยในพื้นที่พลาซา หรือแผงตลาดที่ได้ทำสัญญาเช่ากับผู้เช่าเหมาบริหารพื้นที่กับการเคหะแห่งชาติ
ทั้งนี้ ผู้รับสิทธิต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย ทำสัญญาเช่าซื้อ/สัญญาเช่า/สัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญาจอง กับการเคหะแห่งชาติ หรือทำสัญญาเช่ากับผู้รับเหมา ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2563 และไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ รวมถึงพนักงานและลูกจ้างของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ หรือผู้รับบำนาญจากราชการ
ส่วนมาตรการด้านการสังคม ประกอบด้วย มาตรการป้องกัน มาตรการเผชิญเหตุ และมาตรการฟื้นฟูเยียวยานั้น การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการในโครงการที่อยู่อาศัย 807 แห่งทั่วประเทศ เช่น การทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 แจกหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ให้ความรู้การป้องกันตนเองสำหรับผู้อาศัย การสำรวจกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส โดยประสานกระทรวงสาธารณสุขและจัดหาสถานที่รองรับการกักตัว รวมทั้งร่วมมือภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายจัดหาอาหาร ตลอดจนถุงยังชีพ ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ ทั้งเพื่อป้องกันไวรัส ตลอดจนบรรเทาความเดือดร้อน