xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยแห่จดสิทธิบัตร-อนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ต้านโควิด 51 คำขอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยคนไทยและหน่วยงานในประเทศแห่ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรขอรับความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ด้านโควิด-19 รวม 51 คำขอ เตรียมดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการต่อไป พร้อมแนะให้ยื่นจดทะเบียนผ่านทางออนไลน์เพื่อความสะดวก รวดเร็ว

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มีคนไทยและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศได้ยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จำนวน 51 คำขอ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย (Face Shield) เป็นต้น จำนวน 26 คำขอ 2. เครื่องมือและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ อุโมงค์หรืออุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น จำนวน 18 คำขอ 3. สาร น้ำยา หรือเจลฆ่าเชื้อ จำนวน 4 คำขอ 4. สิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล เป็นต้น จำนวน 3 คำขอ

“หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีนักคิด นักประดิษฐ์ไทย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ได้ยื่นจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมต้านโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งได้มอบให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการตรวจสอบคำขอเหล่านี้ตามกระบวนการต่อไปแล้ว”

นายวีรศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนให้คนไทยยื่นจดทะเบียนเพื่อขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยสามารถขอรับความคุ้มครองผ่านระบบออนไลน์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ (e-Filing) ระบบการชำระค่าธรรมเนียมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการปกป้องคุ้มครองความคิดของเจ้าของสิทธิแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์และต่อยอดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้อีกด้วย

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา สามารถค้นหารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.ipthailand.go.th หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาและบริการต่างๆ จากศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (IP IDE Center) ได้ที่ https://forms.gle/aebdVUKDSCW7FvS1A และหมายเลขโทรศัพท์ 0-2547-5026 ในวันและเวลาราชการ


กำลังโหลดความคิดเห็น