‘นพ.บุญ วนาสิน’ ผู้บริหาร THG ประเมินไทยรับมือโรคระบาด COVID-19 ได้ดีจากการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด เสนอรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทีละสเต็ป ด้าน ‘ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ชี้รัฐบาลควรกำหนด Positioning เพื่อวางยุทธศาสตร์ของประเทศ แนะชูจุดเด่นด้านระบบสาธารณสุขที่ดีหนุนไทยเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัปพลายเชน
นายแพทย์ บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ผู้นำธุรกิจดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรและบริการที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘ดูแลคุณในทุกช่วงชีวิต’ (Lifetime Health Guardian For All) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
(COVID-19) ในประเทศไทยที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจากความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และการติดตามกลุ่มเสี่ยง ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการประเมินความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดได้ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่า COVID-19 จะไม่กลับมาระบาดอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น การเข้าสู่ฤดูฝน ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ เป็นต้น โดยคาดว่าหลัง COVID-19 โรงพยาบาลควรเตรียมความพร้อมด้านมาตรการความปลอดภัยและบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังเข้าสู่ Aging Society โดยคนกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประชากรในวัยอื่นๆ
ดังนั้น มีแนวโน้มว่าจะเกิดความต้องการผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีมาตรการป้องกันโรค COVID-19 อย่างเข้มงวดเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โดยปัจจุบัน THG มีโครงการ Jin Wellbeing County และโรงพยาบาลธนบุรี บูรณา ที่มีบริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ Elderly Protection Zone และมีมาตรการคัดกรองผู้เข้า-ออกอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ คาดว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนที่เป็น New Normal เกิดความระมัดระวังและมีวินัยในการรักษาสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ลดการทำกิจกรรมนอกบ้านและรักษาระยะห่างทางสังคม จึงมีแนวโน้มเห็นการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และการนำมาตรการใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อ เทคโนโลยีที่ช่วยลดระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล ฯลฯ ตลอดจนเกิดบริการใหม่ๆ เช่น Telemedicine, ส่งยาหรือฉีดวัคซีนที่บ้าน เป็นต้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
ส่วนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการปิดเมือง ควรดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยยังคงต้องมีมาตรการป้องกันและการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเข้มงวด ขณะที่ความต้องการด้านการรักษาพยาบาลภายในประเทศและจากกลุ่มเมดิคัลทัวริสซึม มั่นใจว่ายังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เพราะแพทย์ไทยมีศักยภาพด้านการรักษาพยาบาลและมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงค่าบริการที่สมเหตุสมผล จึงถือว่าศักยภาพของการแพทย์ไทยมีความพร้อมให้บริการแก่ชาวต่างชาติอย่างเต็มที่
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลควรวาง Positioning หรือจุดยืนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และตอกย้ำจุดแข็งของประเทศไทย โดยจะต้องประเมินโครงสร้างทางเศรษฐกิจและศักยภาพด้านการแพทย์และระบบสาธารณสุข เช่น การวาง Positioning ด้านการแพทย์เพื่อรองรับการสร้างรายได้จากเมดิคัลทัวริสซึม (Medical Tourism) หรือเฮลท์ทัวริสซึม (Health Tourism), การยกระดับประเทศเป็นส่วนหนึ่งของโกลบอลซัปพลายเชนในภาคการผลิตของโลก เป็นต้น
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ประเมินว่า New Normal ที่จะเกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เช่น อาจเห็นการท่องเที่ยวแบบเช่าเครื่องบินเหมาลำเป็นกลุ่มเล็ก เนื่องจากต้องการความปลอดภัยในด้านสุขภาพและยังมีความจำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคม เป็นต้น
ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อว่า อัตรา GDP ของประเทศไทยในปีนี้คาดว่าจะมีอัตราเติบโต -5% และหากมีการแพร่ระบาดในอัตราที่เพิ่มขึ้นอาจะทำให้ GDP มีอัตราเติบโต -10% โดยคาดว่าแนวโน้ม GDP ทั่วโลกในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้จะลดลงค่อนข้างมาก และหากมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะทำให้ GDP ของโลกในปี 2020 มีแนวโน้ม -6% และอาจติดลบอย่างต่อเนื่องถึงปี 2021 จากที่คาดการณ์ว่าจะมีโอกาสกลับมาเติบโตได้ 5%
สำหรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการ เนื่องจากการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานานจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยกรณีที่ล็อกดาวน์และปิดประเทศเป็นระยะเวลา 1 เดือนประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจ เช่น ส่งออก -5%, ท่องเที่ยว -30% ถึง -40%, อุตสาหกรรมยานยนต์ -20%, อสังหาริมทรัพย์ -20% ถึง -30% เป็นต้น
ส่วนกรณีที่มีการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ยังคงต้องมีมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การกักตัวกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด
“มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและผลกระทบต่อสังคม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาเดินได้ตามปกติเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวได้จากการบริโภคภายในประเทศ และแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว” ดร.ศุภวุฒิกล่าว