xs
xsm
sm
md
lg

คอนเฟิร์ม! สหรัฐฯ ตัดจีเอสพี 573 สินค้าอย่างเป็นทางการ ยันไม่กระทบส่งออก 4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ตัดจีเอสพีสินค้าไทย 573 รายการอย่างเป็นทางการ แม้จะผนึกกำลังกับผู้นำเข้าร้องยูเอสทีอาร์เลื่อนการตัดสิทธิ หลังโควิด-19 ระบาด แต่ไม่เป็นผล ย้ำแม้จะถูกตัดสิทธิ แต่ไม่กระทบการส่งออกมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท เหตุไทยยังส่งออกได้ปกติ แค่ผู้ซื้อต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่ม

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ที่ให้กับสินค้าไทย 573 รายการอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้ประกาศจะตัดสิทธิไทยในรอบการทบทวนการให้สิทธิเป็นรายประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2562 โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไทยไม่ให้สิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากลอย่างเพียงพอ ตามการร้องเรียนของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (เอเอฟแอล-ซีไอโอ)

“ก่อนหน้านี้ เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ทำหนังสือถึงยูเอสทีอาร์ ให้พิจารณาเลื่อนการตัดสิทธิไทยออกไปก่อน เพราะทั้งไทยและสหรัฐฯ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเพื่อให้สหรัฐฯ ยังซื้อสินค้าจากไทยได้ในราคาถูก เพราะไม่เสียภาษีนำเข้า และไทยจะได้ส่งออกได้มากขึ้น เพื่อฟื้นฟูประเทศ และยังได้ขอให้ 17 สมาคมของสหรัฐฯ ที่นำเข้าสินค้าไทย ทำหนังสือถึงยูเอสทีอาร์ และถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้เลื่อนเวลาการตัดสิทธิออกไปด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล สินค้าไทย 573 รายการถูกตัดสิทธิอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2563”นายกีรติกล่าว

ทั้งนี้ การถูกตัดสิทธิจีเอสพีในสินค้า 573 รายการดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และเซรามิก เป็นต้น แต่ไม่ได้ทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปสหรัฐฯ ที่ตกปีละเกือบ 40,000 ล้านบาท เพราะไทยยังส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ได้เหมือนเดิม ไม่ใช่ส่งออกไม่ได้เลย เพียงแต่ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติเฉลี่ยที่ 4.7% จากเดิมที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดจีเอสพีสินค้าไทยเพิ่มเติม ตามรอบการทบทวนการให้สิทธิเป็นรายประเทศ โดยมีการร้องเรียนของสมาคมผู้ค้าสุกรแห่งชาติ ที่เรียกร้องให้ยูเอสทีอาร์ตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย เพราะไม่เปิดตลาดให้กับสินค้าสหรัฐฯ อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะไม่เปิดตลาดนำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีน ซึ่งยังไม่รู้จะประกาศผลการพิจารณาเมื่อไร


กำลังโหลดความคิดเห็น