xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ทยอยนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจรแล้ว สนองนโยบายรัฐช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปตท.เสนอแผนนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจรต่อ กกพ. รวมทั้งลดการซื้อก๊าซฯ ในอ่าวไทยและพม่าโดยไม่กระทบต่อสัญญา DCQ ตามนโยบายรัฐ เผยนำเข้าแอลเอ็นจีแล้ว 6 หมื่นตัน เตรียมทยอยนำเข้าเพิ่มอีกเดือนหน้า

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.ทำแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สัญญาตลาดจร (สปอต) เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้ลดการซื้อก๊าซฯ จากแหล่งในอ่าวไทยและพม่า โดยการนำเข้าราคาสปอตจะไม่ให้กระทบต่อสัญญาการสั่งซื้อตามสัญญา (DCQ ;Daily Contract Quantity) เพราะการบริหารสัญญาจะดูทั้งปี ซึ่งต้องบริหารเพื่อไม่ให้กระทบสัญญาไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (TAKE OR PAY) ในขณะเดียวกัน ปตท.ยังมีการนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน/ปี

"ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรขณะนี้ลดต่ำมากตามทิศทางตลาด ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งโควิด-19 และการค้นพบแหล่งแอลเอ็นจีในหลากหลายพื้นที่ แต่คาดสถานการณ์อาจเป็นการชั่วคราว และราคาปลายปีน่าจะขยับขึ้นกว่านี้ ซึ่งการนำเข้าจะพิจารณาไม่ให้กระทบต่อสัญญาการซื้อขายก๊าซจากอ่าวไทยและพม่าที่แหล่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญต่อความมั่นคงพลังงานของไทย ขนส่งทางท่อ ทำให้เรียกผลิตไฟฟ้าได้ทันที " นายชาญศิลป์กล่าว

ปตท.ได้มีสัญญาซื้อแอลเอ็นจีตลาดจร 4 ลำ ลำละ 6 หมื่นตันในปีนี้ เริ่มนำเข้ามาแล้ว 1 ลำ อีก 3 จะนำเข้าเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ราคาตลาดจรอยู่ที่ราว 3 ดอลลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งราคาถูกกว่าก๊าซฯ ในอ่าวไทยและพม่า เพราะเป็นราคาผูกกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าในหลายด้าน ทั้งลดค่าไฟฟ้า ไปถึงราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนราว 60% ซึ่งจากที่ตลาดแอลเอ็นจีในตลาดจรขณะนี้มีต้นทุนต่ำกว่าราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงให้ บมจ.ปตท.นำเข้าแอลเอ็นจีในราคาสปอตเข้ามา และได้เริ่มนำเข้ามาแล้วเพื่อเป็นส่วนหนึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดต่ำลง ในขณะที่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยเป็นก๊าซเปียกคุณภาพดีก็ให้บริหารจัดการ เพื่อนำมาใช้ระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานของประเทศ

สำนักงาน กกพ.แจ้งว่า ปตท.ได้รายงานว่าพร้อมนำเข้าแอลเอ็นจีสัญญา 11 ลำเรือในปีนี้ รวม 6.6 แสนตัน หากนำเข้าได้ทั้งหมดจะลดต้นทุนประเทศ 4 พันล้านบาท ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า 1.5 สตางค์ต่อหน่วย โดย แอลเอ็นจีที่ ปตท.นำเข้าจะสามารถผสมก๊าซฯ ให้มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมและยานยนต์ (เอ็นจีวี) อย่างไรก็ตาม จะนำเข้าได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับผลกระทบโควิด-19 จะส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศลดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งการนำเข้าปริมาณนี้ได้มีการประเมินตามการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงานแล้วว่าการใช้ก๊าซปลายปีจะลดลงจากแผนเดิม 12% หรือราว 557 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไตรมาสแรกปีนี้ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 อยู่ในระดับคงที่ 4,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น