xs
xsm
sm
md
lg

Covid-19 ระบาด แต่ไม่ขาดเสียง “ดีเจ” ยกพลจัดรายการ work from home

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - วงการสื่อออกอาการไม่ไหวก็ต้องไหว ปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่ปรับตัวภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สื่อทีวีอาการหนักสุด หอบละครรีรันเซฟลมหายใจ ปรับรายการสดออกอากาศก่อน 4 ทุ่มรับเคอร์ฟิวระลอกสอง ฟากสื่อวิทยุ ค่ายเอไทม์นำทีม ดีเจคลื่นกรีนเวฟจัดรายการจากที่บ้านรับนโยบาย work from home

กระแสความเดือดร้อนและผลกระทบของวงการสื่อจากสถานการณ์โควิด-19 กำลังส่อเค้าให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่ง “สื่อวิทยุ” ถือเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ทางเอเยนซีมองว่าจะตกลงเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ในปี 2563 นี้

ทั้งนี้ จากการที่ “ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI ผู้ให้บริการซื้อ-ขายสื่อโฆษณา และวางกลยุทธ์ทางการตลาด ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้หนักหนาสาหัสที่สุด หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยไม่ค่อยสู้ดีนัก

อีกทั้งวิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่าราว 100,000 ล้านบาทนั้นมีโอกาสติดลบถึง 50% ซึ่งมีเพียงสื่อออนไลน์ยังพอมีตัวเลขเติบโตบ้างเพียงสื่อเดียว ขณะที่สื่อวิทยุในเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมามีมูลค่า 314 ล้านบาท ลดลง 2.48% และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีมูลค่า 326 ล้านบาท ลดลง 1.51% เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน

ทั้งนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะมีแนวทางขอความร่วมมือ work from home ในช่วงที่ผ่านมา อานิสงส์อาจส่งผลดีต่อสื่อทีวี และสื่อออนไลน์ที่จะมีฐานผู้ชม และตัวเลขการใช้งานบนแพลตฟอร์มโซเชียลออนไลน์และอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้น ซึ่งสื่อวิทยุอาจจะได้รับผลกระทบนั้น ในความเป็นจริงกลับพบว่าตัวเลขผู้ฟังเพลงจากคลื่นวิทยุไม่ได้ลดลงเลย เพราะสามารถรับชมได้จากแพลตฟอร์มออนไลน์นั่นเอง


นายสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร 3 คลื่นวิทยุในเครือเอไทม์ มีเดีย คือ กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม, อีเอฟเอ็ม 94 และชิล ออนไลน์ เปิดเผยว่า ในช่วงการปรับตัวและมาตรการขอความร่วมมือเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับภาพรวมของคลื่นวิทยุในกลุ่มเอไทม์ พบว่าฐานผู้ฟังช่วงนี้โดยรวมแล้วไม่เพิ่มและไม่ลดลง ถือว่าใกล้เคียงเดิม ตรวจสอบได้จากในส่วนของออนไลน์ ข้อมูลทั้งออนไลน์ และแอปพลิเคชันของเอไทม์ ซึ่งโดยส่วนตัวบริษัทเพิ่งเริ่ม work from home กันเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข้อมูลอาจจะวัดอะไรยังไม่ได้มาก แต่ที่กำลังจับตาดูคือ ข้อมูลทางสถิติของ AtimeOnline ไม่ว่าจะเป็นทาง YouTube ในเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้นประมาณ 35% ทั้งยอดวิว และจำนวนชั่วโมงที่ดู เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

***เอไทม์ยกพลดีเจจัดรายการที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวงการสื่อวิทยุให้ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน ซึ่งนายสมโรจน์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานของเอไทม์ จริงๆ แล้วได้วางแผนการจัดรายการแบบ work from home มาตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าวิธีหยุดการแพร่ระบาดที่ดีที่สุดก็คือต้องเว้นระยะห่างกัน work from home หรือทำงานที่บ้าน จึงเป็นโจทย์ที่เราจะหาวิธีกันตั้งแต่แรก

“ก่อนหน้านั้นก็ทดลองหลายวิธีเพื่อเตรียมแผนระดับ A B C ทั้งให้ดีเจโทร.เข้ามาจัดรายการ อัดเสียงกลางบางส่วนเพื่อลดช่วงเวลาที่ดีเจต้องนั่งอยู่ในสตูดิโอ แล้วใช้ทางเทคนิคเข้ามาช่วยทำให้คุณภาพเสียงยังเหมือนเดิม จนรัฐบาลมีความชัดเจนขอความร่วมมือในการกำหนดให้ทำงานที่บ้าน ตั้งแต่ 1 เม.ย.เราก็เริ่มให้ดีเจจัดรายการที่บ้านได้เลย แล้วใช้เทคนิคในการดึงเสียงเข้าระบบออนแอร์ได้เลย ก็เป็นอะไรที่ไม่แตกต่างกับการจัดรายการในสตูดิโอมากนัก แล้วยังช่วยชาติ ช่วยส่วนรวมในการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ด้วย”


ทั้งนี้ 1. คลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม เป็นวิทยุคลื่นแรกของไทยที่ปรับรูปแบบการจัดรายการในช่วงนี้ให้เป็นแบบ work from home โดยเริ่มกันตั้งแต่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

2. อีเอฟเอ็ม 94 ใช้วิธีเดียวกัน ดีเจที่จัดชิปช่วงเพลงก็จัดแบบ work from home เพียงแต่ในช่วงรายการทอล์กที่มีดีเจจัดรายการมากกว่า 1 คน ยังจำเป็นต้องมีดีเจเข้ามาจัดในสตูดิโอเนื่องจากรูปแบบรายการต้องมีการรับสายโทรศัพท์หน้าไมค์ ตรงนี้เราก็มีมาตรการป้องกันอย่างดี ให้ดีเจใส่หน้ากากขณะจัดรายการ นั่งห่างกันอย่างน้อย 1.5-2 เมตร และมีการทำความสะอาดห้องสตูฯ และอุปกรณ์ทุกช่วงดีเจที่จัดรายการเสร็จ

3. คลื่นชิล ออนไลน์ ในแง่ของการจัดรายการวิทยุไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2563 คลื่น Chill ได้ปรับให้เป็น Music All Day Long เปิดเพลย์ลิสต์เพลงเพราะยาวต่อเนื่องไม่มีสะดุดในช่วงเวลาทำงานของกลุ่มคนฟังอยู่แล้ว แต่ในส่วนของรายการทอล์ก อย่าง รายการใต้โต๊ะทำงาน มีการปรับเปลี่ยนสถานที่การจัดรายการ จากจัดในสตูดิโอปิด ย้ายมาเป็นการจัดรายการนอกสถานที่ซึ่งเลือกเป็นการจัดรายการในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ในธีมใต้โต๊ะ WORK FROM HOME ในบริเวณบ้านของ 3 ดีเจแทน

“ข้อดีของการจัดคลื่นที่บ้าน และโอกาสของสื่อวิทยุมันมีเยอะอยู่แล้วในช่วงเวลานี้ work from home คือวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนข้อเสียมีเล็กน้อยอย่างที่บอก แน่นอนว่าการจัดที่บ้านและการอัดเสียงเข้ามามันมีความสดสู้การจัดในห้องจัดไม่ได้อยู่แล้ว แต่ด้วยทางเทคนิคเราก็พยายามทำให้คุณภาพมันใกล้เคียงได้มากที่สุด” นายสมโรจน์กล่าว

พร้อมกับย้ำว่า “ในแง่ของโอกาส ทุกสื่อที่เจอวิกฤตโควิด-19 ผมเชื่อว่าเจอปัญหาคล้ายๆ กันก็คือเม็ดเงินโฆษณาที่ลดน้อยลง การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นแน่นอนรายได้ลดลง แต่ถ้ามองในแง่ดีโอกาสมันก็ดีตรงที่ว่าการที่คนทำงานอยู่บ้านเวลาว่างก็เยอะขึ้น การเสพสื่อก็มากขึ้น วิทยุเองแม้สถิติน้อยลง แต่อย่าลืมว่าวิทยุเรา Expand Platform ไปทุก Device ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ฟังผู้ชมทั้งทาง Website / Application / Social Media (Youtube, FB, IG, Twitter) ซึ่งผู้ฟังสามารถเข้าถึงคอนเทนท์ต่างๆ ของเราได้ทุกช่องทาง”


นายสมโรจน์อธิบายถึงวิธีการทำงานต่อว่า สำหรับกิจกรรมและแผนงานอื่นๆ ของทางเอไทม์นั้น ได้มีการปรับวิธีการทำงาน เริ่มตั้งแต่มีนโยบายให้ทั้งพนักงานเหลื่อมเวลาการเข้าทำงาน เข้าสาย เข้าบ่าย หลีกเลี่ยงความแออัดในการเดินทาง โดยเฉพาะพนักงานใช้รถสาธารณะ ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ทั้งเดือนมีนโยบายให้ work from home เท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนของดีเจ ก่อนหน้านี้ซักซ้อมกันหลายทางว่าทำอย่างไรให้รายการยังมีความสดเหมือนเดิม แม้ดีเจไม่ได้มานั่งจัดรายการในสตูดิโอ หาวิธีจัดจากบ้าน เอาเทคนิคเข้ามาช่วย ซึ่งตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาที่ดีเจกรีนเวฟ work from home ฟีดแบ็กจากคนฟังก็ยังรู้สึกเหมือนการฟังรายการแบบปกติและชอบที่เราทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่ามันทำได้ สำหรับส่วนอื่นๆ จะเป็นเรื่องของการทำงานที่จะต้องดำเนินทุกอย่างไปได้แม้ในสภาวะแบบนี้ คุมคุณภาพรายการให้ยังสด ใหม่ สนุกเหมือนเดิม

ส่วนข้อจำกัดอื่นๆ ที่ต้องงดเว้น เช่น การจัดกิจกรรม อีเวนต์สนับสนุนต่างๆ ของคลื่นวิทยุ เช่น Cover Night Live (Green Wave) / EFM Chill Six Pack On The Beach (EFM & Chill) ก็งดไป แล้วมาทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้การรวมตัวกันที่เราคิดว่าจะเป็นสื่อที่ช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤตนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น 1. คลื่น กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม กิจกรรมและรายการอื่นๆ ในคลื่นที่มีการปรับตัว คือรายการ Club Friday ตลอดเดือนเมษายนนี้จะเป็นการนำ Hilight ตอนที่น่าสนใจมารวมให้ฟังกันอีกครั้งตลอดทั้งเดือน


นอกจากนี้ กรีนเวฟยังมีแคมเปญ Greenwave Save Heroes 99 บาท ก้าวผ่านโควิด-19 (กรีนเวฟ เซฟ ฮีโร่ 99 Greenwave Save Heroes 99 บาท ก้าวผ่านโควิด-19) ชวนทุกคนมาร่วมบริจาค เพียงคนละ 99 บาท เพื่อซื้อชุด PPE และหน้ากากอนามัย มอบให้ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ 50 โรงพยาบาลทั่วประเทศผ่านกิจกรรมดีๆ โดยมอบความสุขผ่านเสียงเพลงด้วย LIVE FROM HOME จาก 9 ศิลปิน ตลอด 9 วัน ได้แก่ 4 เม.ย. แสตมป์ / 5 เม.ย. แก้ม วิชญาณี / 6 เม.ย. ชาติ สุชาติ / 7 เม.ย. มาเรียม / 8 เม.ย. ว่าน ธนกฤติ / 9 เม.ย. สิงโต นำโชค / ‪10 เม.ย.‬ แว่นใหญ่ / ‪11 เม.ย.‬ กัน นภัทร และ ‪12 เม.ย.‬ โรส ศิรินทิพย์ โดยสามารถร่วมสมทบทุนผ่านทางบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอโศก ชื่อบัญชี บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี ‪032-4-72223-7‬ ตลอดเดือนเมษายนนี้‬‬‬‬‬‬‬‬

2. ด้านรายการทอล์กชื่อดังของคลื่นอีเอฟเอ็ม 94 ในช่วง‪วันจันทร์-พุธ เวลา 21.00-23.00 น. อย่างรายการ จันทร์ Shock โลก สุดตรีม, อังคารคลุมโปง และพุธทอล์ก พุธโทร. ก็ได้มีการปรับเวลาออกอากาศเป็น ‪15.00-17.00‬ น. เพื่อให้เหมาะสมกับดีเจที่ต้องจัดรายการอยู่ในช่วงเคอร์ฟิวและให้แฟนรายการที่ต้อง WFH ได้สนุกกับรายการเร็วมากขึ้นอีกด้วย‬‬‬‬

3. ด้านคอนเทนต์ออนไลน์ต่างๆ ของ ชิล ออนไลน์ มีการแชร์คอนเทนต์จากภายนอกเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง พร้อมทั้งอัปเดตตัวเลขต่างๆ ของโควิด-19 เพื่อแบ่งปันข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่แฟนคลับชิลฯ และผู้ที่ติดตามแฟนเพจ ชิลออนไลน์ รวมไปถึงการทำคลิปรวม Hilight เพื่อสร้างความบันเทิงในช่วงกักตัว และเลี้ยงกระแสรายการไว้เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

*** เลื่อนคอนเสิร์ตไปครึ่งปีหลัง

เป็นที่ทราบกันดีว่า คอนเสิร์ตถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของคลื่นวิทยุ ซึ่งทางเอไทม์ โชว์บิซ จำเป็นต้องเลื่อนคอนเสิร์ตออกไปก่อน โดยไลน์อัพคอนเสิร์ตปีนี้จะพิจารณาเลื่อนสำหรับไลน์อัพของครึ่งปีแรกก่อน เริ่มตั้งแต่ 1. Tote Bag Music Festival มหกรรมดนตรีรักโลก (เดิม 22-23 มี.ค. 63) เลื่อนไปเป็น 20-21 ก.พ. 64 และ 2. “7 เซียน คอนเสิร์ต” (เดิม 28 มี.ค. 63) เลื่อนไปเป็น ‪10 ต.ค. 63‬ ตามมาด้วย 3. คอนเสิร์ต “Micro จำฝังใจ” (เดิม ‪2-3 พ.ค. ‬63) เลื่อนไปเป็น ‪22-23 ก.ย. 63‬ ‬‬‬‬‬‬


นี่คือการปรับตัวของสื่อวิทยุของค่ายจีเอ็มเอ็ม ในการรับมือกับโควิด-19 อย่างน่าติดตาม




กำลังโหลดความคิดเห็น