นครปฐม - กองทัพอากาศ เตรียมส่งน้องถาดหลุม หุ่นยนต์สั่งการฝีมือทหารอากาศ ปฏิบัติหน้าที่ State Quarantine ศูนย์ประสานงานดูแลคนไทยในพื้นที่เฝ้าระวังโรคโควิด-19 โรงเรียนการบินกำแพงแสน ทำหน้าที่ดูแล ส่งยา อาหาร เสื้อผ้าผู้เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
โรงเรียนการบินกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในสถานที่ควบคุมกลุ่มคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศเป็นพื้นที่เสี่ยงเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัวโควิด-19 การจัดสถานที่ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานดูแลคนไทยในพื้นที่เฝ้าระวังโรคโควิด-19 โดยที่ผ่านมา ได้มีการรองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยไม่มีใครติดเชื้อกลับมาในประเทศ และได้มีการส่งตัวกลับบ้านไปแล้ว 1 ชุด และกำลังจะมีการนำกลุ่มนักเรียนทุนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส กลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อมาทำการควบคุมในพื้นที่ 14 วัน
โดยหลังจากที่ พลอ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยม State Quarantine ณ ศูนย์ประสานงานดูแลคนไทยในพื้นที่เฝ้าระวังโรคโควิด-19 โรงเรียนการบินกำแพงแสน ได้มีการนำน้องถาดหลุม มาทำการรับมอบกระเช้าให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของหุ่นยนต์เพื่อการพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ที่คิดค้นโดยอาจารย์ของโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช และเป็นหุ่นยนต์ที่ต่อยอดมากจากน้องปิ่นโต ที่ถูกประดิษฐ์โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นต.ผศ.จีรศักดิ์ หมวดโพธิ์กลาง อาจารย์กองการศึกษา โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ผู้คิดค้นและประดิษฐ์หุ่นยนต์น้องถาดหลุม เผยว่า สำหรับการผลิตน้องถาดหลุม เป็นแนวคิดของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ซึ่งได้เป็นการต่อยอดจากน้องปิ่นโต โดยมีหลักการคิดสร้างคือต้องใช้งานง่าย เพราะผู้ที่ใช้งานไม่ได้มีความรู้ด้านวิศวกรรม คือการกดปุ่มแต่ละครั้ง หรือ 2 ครั้งก็สามารถใช้งานได้เลย
ซึ่งชุดแรกได้มีการส่งมอบให้ใช้งานที่โรงพยาบาลภูมิพล และโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าห้องไปส่งอาหารให้แก่ผู้กักตัว โดยแบ่งการคิดค้นเป็น 2 แบบคือ ถาดเหล็กทำหรับใส่ถาดอาหาร ยา และเสื้อผ้า ไปให้ผู้ที่ถูกควบคุมหรือกักตัว ส่วนที่ 2 คือ คิดส่วนกลไลโดยมีเทอร์โมมิเตอร์แบบอัตโนมัติเพิ่มเข้าไปเพื่อวัดไข้และเก็บเป็นดาต้าเบท ก่อนจะถูกส่งไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ โดยผู้ปฏิบัติสามารถเข้าแท็บเล็ตได้ตลอดเวลา โดยได้ผลการทำงานที่ดีมาก เพราะผู้ปฏิบัติจะได้ลดความเสี่ยงไม่ต้องสัมผัสตัวกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงไปได้มาก
นต.ผศ.จีรศักดิ์ หมวดโพธิ์กลาง กล่าวอีกว่า หลังจากได้เครื่องต้นแบบ 3 เครื่องแล้ว ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ได้สั่งการให้มีการผลิตอีก 12 เครื่อง และหากที่ใดมีความสนใจก็จะมีการเขียนแบบเป็นพิมพ์เขียวเอาไว้ใช้ผลิตต่อได้ทันที ซึ่งสามารถติดต่อเข้ามาขอได้โดยที่คิดค้นเป็นหุ่นยนต์ที่บังคับโดยใช้คลื่นวิทยุ มีต้นทุนอยู่ที่ตัวละ 3 หมื่นบาท และกำลังจะคิดให้ต้นทุนลดลงไปอีก โดยหากเปรียบกับหุ่นยนต์ของต่างประเทศทีใช้งานไม่ต่างกันด้วยฟังก์ชันที่มีราคาจะถูกกว่ามากเพราะของต่างประเทศมีราคาหลายล้านบาท โดยตอนนี้กำลังจะนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ State Quarantine ศูนย์ประสานงานดูแลคนไทยในพื้นที่เฝ้าระวังโรคโควิด-19 โรงเรียนการบินกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยเป็นศูนย์ที่จะรองรับผู้ที่มากักตัวเพิ่มขึ้น ในอนาคตตรงนี้จะช่วยเรื่องการลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ได้มากด้วย