xs
xsm
sm
md
lg

ชง คจร.เคาะเพิ่มความเร็ว 120 กม./ชม. “ศักดิ์สยาม” ดันกฎกระทรวงฯ ใช้นำร่องปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” ชง คจร.วันนี้ (30 มี.ค.) อนุมัติแก้กฎหมายเพิ่มความเร็ว 120 กม./ชม. ถนน 4 เลนขึ้นไป “ศักดิ์สยาม” ดันนำร่องเส้นทางที่มีแบริเออร์กั้น ขณะที่เสนอให้ กทพ.สร้างฐานรากรถไฟฟ้า “สีน้ำตาล” พร้อมทางด่วน N2

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2563 วันนี้ (30 มี.ค.) จะเสนอการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ซึ่งจะมีการจัดทำ (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง โดยหาก คจร.เห็นชอบจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอแนวคิดในการในการทำช่องทางรถเมล์ (บัสเลน) และจุดจอดรถรับส่งผู้โดยสารบริเวณเกาะกลางถนน จากปัจจุบันที่ให้วิ่งและจอดรับส่งที่เลนซ้ายสุดซึ่งเกิดการติดขัด จากรถที่เข้าออกซอย และรถจอดข้างทาง หาก คจร.เห็นชอบจะเร่งศึกษาเพื่อกำหนดเส้นทางเดินรถที่จะนำมาดำเนินการ โดยจะต้องพิจารณากายภาพของถนนว่ามีพื้นที่และจำนวนช่องจราจรเพียงพอหรือไม่ โดยหลักจะต้องมี 3-6 ช่องจราจร ซึ่งอาจจะกำหนดช่องบัสเลนชิดเกาะกลางเป็นช่วงๆ ตามกายภาพของถนน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้ใชบริการรถโดยสารสาธารณะที่มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. จะมีการกำหนด ประเภทถนนที่ใช้ความเร็วดังกล่าวได้ (ทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบทที่มีช่องเดินรถทิศทางเดียวกันตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป เฉพาะถนนที่มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน) ซึ่งกฎกระทรวงจะต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน จึงจะประกาศใช้

กรมทางหลวง (ทล.) ได้เลือกนำร่อง คือ ถนน ทล.หมายเลข 32 (สายเอเชีย) ช่วงบางปะอิน-นครสวรรค์ ระยะทาง 150 กม. เนื่องจากเป็นถนนที่มีเกาะกลางหลายรูปแบบ ทั้งแบบร่องกลาง แบบแบริเออร์ตลอดแนวเส้นทางแบ่งช่องจราจรและทำการปรับปรุงกายภาพเช่น ปิดจุดกลับรถ รวมถึงติดตั้งด้านความปลอดภัยอื่นๆ เช่น เครื่องหมายป้ายจราจร ตีเส้น ให้สมบูรณ์ เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุดก่อนที่จะประกาศใช้

มอบ กทพ.สร้างฐานราก “โมโนเรลสีน้ำตาล” พร้อมทางด่วน N2

นอกจากนี้จะเสนอ คจร.อนุมัติการดำเนินงานส่วนของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม.ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในส่วนที่ทับซ้อนกับโครงการระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ซึ่งมีระยะทางทับซ้อนประมาณ 5.7 กม. กรอบวงเงินค่าฐานรากรถไฟฟ้ารวม 1,470 ล้านบาท ให้การทางพิเศษแหงประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างไปพร้อมกับทางด่วน N2


กำลังโหลดความคิดเห็น