xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ดันโมโนเรลสายสีน้ำตาลชง “คจร.” เคาะงบสร้างฐานรากพร้อมทางด่วน N2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่รฟม.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. โดยให้พัฒนาส่วนของรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E-W Corridor ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากโครงการอยู่ในแนวสายทางเดียวกันนั้น รฟม.เตรียมเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งคาดว่าจะประชุมภายใน 1-2 เดือนนี้เพื่อขออนุมัติกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 1,700 ล้านบาท และแนวทางการทำงานโดยให้ผู้รับเหมาของ กทพ.ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างระบบทางด่วน N2 เป็นผู้ก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลด้วย

ส่วนการออกแบบฐานรากตอม่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงที่มีการทับซ้อนกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วง N2 ซึ่งมีระยะทางประมาณ 5.7 กม. รฟม.ได้จ้างที่ปรึกษาดำเนินการ คาดว่าการออกแบบจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ และพร้อมส่งให้ กทพ.นำไปประมูลร่วมกับการก่อสร้างทางด่วน N2

นอกจากนี้ รฟม.ยังได้เตรียมดำเนินการศึกษาทำรายงานการวิเคราะห์การร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งคาดว่าจะศึกษาหลังจากโครงการได้รับอนุมัติ และใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี ส่วนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น เดิมสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาไว้แล้ว ดังนั้น รฟม.จะมอบอำนาจให้ สนข.เป็นผู้เสนอรายงาน EIA ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ต่อไป

“มติ คจร.ก่อนหน้านี้ให้ก่อสร้างฐานรากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับการก่อสร้างทางด่วน N2 ซึ่ง รฟม.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาของทางด่วน N2 เป็นผู้ออกแบบฐานรากรถไฟฟ้าสีน้ำตาลเพื่อความสะดวก เนื่องจากจะต้องฝากให้ กทพ.ก่อสร้างฐานรากเสาตอม่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับทางด่วนด้วย”

รายงานข่าวแจ้งว่า สนข.ได้เสนอรายงาน EIA โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ยกระดับ 22.1 กม. จำนวน 20 สถานี วงเงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาทแล้ว โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้กลับมาทำข้อมูลเพิ่มเติมโครงการ ขณะที่แนวเส้นทาวช่วงตัดผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังถูก ม.เกษตรฯ คัดค้าน ซึ่งอยู่ระหว่างการลดผลกระทบให้มากที่สุด

เนื่องจากแนวเส้นทางที่เหมาะสมคือ เริ่มจากแยกแครายวิ่งไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนานิคม แยกสุคนธสวัสดิ์ แยกทางต่างระดับศรีรัช แยกนวลจันทร์ แยกนวมินทร์ แยกโพธิ์แก้ว แยกแฮปปี้แลนด์ ไปสิ้นสุดที่แยกสวนสน


กำลังโหลดความคิดเห็น