“พาณิชย์” ดีเดย์ 24 มี.ค.นี้ส่งรถโมบายล์ธงฟ้านำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพวิ่งจำหน่ายให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 200 คัน ส่วนจังหวัดอื่นจะเน้นในจังหวัดที่มีมาตรการเข้มข้น เผยล่าสุดเซ็นตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัดแล้ว ป้องกันการกักตุน การฉวยโอกาส และดูแลผู้บริโภคไม่ให้โดนเอาเปรียบ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณามาตรการและแนวทางการดูแลประชาชนด้านสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงที่มีมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป กรมการค้าภายในจะจัดส่งรถโมบายล์ธงฟ้าจำนวนเบื้องต้นประมาณ 200 คัน นำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาประหยัด เช่น ข้าวสารบรรจุถุง ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และเจลล้างมือ เป็นต้น ออกไปจำหน่ายแก่พี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่พักอยู่ที่บ้าน รวมถึงให้พิจารณาจัดรถโมบายล์ธงฟ้าในต่างจังหวัดที่อาจจะมีมาตรการเข้มข้นขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ในด้านการดูแลสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค การป้องกันการกักตุน การป้องกันการฉวยโอกาส การปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกซ้ำเติมในสถานการณ์ขณะนี้ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค 2 คณะ โดยในระดับประเทศมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และกรมการค้าภายใน ส่วนในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กรรมการมาจาก กอ.รมน. ตำรวจ อุตสาหกรรม นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพาณิชย์จังหวัด
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 25 มี.ค. 2563. จะนัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต การกระจายสินค้าทั้งในประเทศและส่งออก และการกำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไป
ส่วนการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าสู่ห้างค้าปลีกค้าส่ง ซูเปอร์มาร์เกต จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืดหยุ่นกฎระเบียบด้านการขนส่งเพื่อให้สามารถลำเลียงสินค้าจากโกดังไปยังสถานที่จำหน่ายปลีกได้เร็วขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, เร่งส่งเสริมการจัดส่งสินค้าถึงบ้านแบบดีลิเวอรี ซึ่งปัจจุบันห้างและร้านสะดวกซื้อ เช่น แม็คโคร เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี และเซเว่น อีเลฟเว่น ก็มีการจัดส่งอยู่แล้ว, การจัดส่งของผู้ให้บริการอาหาร เช่น แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เก็ท และลาลามูฟ ซึ่งจะสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป และยังได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปช่วยดูแลร้านค้าปลีกรายย่อย (โชวห่วย) ให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน เพื่อรองรับมาตรการที่อาจจะมีเข้มข้นขึ้นในระดับจังหวัด