ส.อ.ท. เกาะติดโควิด-19 เริ่มส่งผลให้ทั้งคนไทยและต่างชาติแห่ตุนสินค้าอุปโภคและบริโภค พบมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากต่างประเทศ เร่งทุกส่วนรับมือสร้างสมดุลให้เพียงพอ ลั่นคนไทยโชคดีที่มีภาคเกษตรสมบูรณ์ทำให้ไม่ต้องกลัวอาหารจะไม่พอ รับหวั่นภัยแล้งฉุดปริมาณการผลิตปีนี้ลด 20-30%
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั่วโลกรวมถึงไทย ทำให้คำสั่งซื้อในประเทศในส่วนของสินค้าในกลุ่มของใช้จำเป็นทั้งอุปโภคและบริโภคมีสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป อุปกรณ์การแพทย์ ยา อาหารเสริม เป็นต้น ส่วนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศล่าสุดพบว่าเริ่มมีเข้ามาต่อเนื่องในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งจากสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรปบางส่วน ซึ่งไทยนับเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก
“โควิด-19 ในไทยเริ่มมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นและอาจนำไปสู่การปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ได้เช่นกัน ดังนั้น สมาชิก ส.อ.ท.ได้มีการเตรียมมาตรการที่จะให้ภาคการผลิตทั้งหมด 42 กลุ่มอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมการผลิตไว้อย่างสม่ำเสมอ ให้คนงานได้ทำงานปกติเพื่อไม่ให้กระทบกรณีที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามาก รวมถึงการวางระบบขนส่งในการกระจายสินค้าให้เพียงพอเพื่อสร้างสมดุลทั้งการผลิตให้สอดรับกับความต้องการในประเทศและส่งออกด้วย” นายเกรียงไกรกล่าว
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ส.อ.ท. กล่าวว่า โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในไทยทำให้สินค้าภาคการเกษตรและอาหารแปรรูปมีความต้องการสูงขึ้นมาก ทั้งข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ เพราะประชาชนบางส่วนมีการกักตัวอยู่ในบ้านหรือทำงานจากบ้าน (work from home) ทำให้เริ่มกลับมาทำอาหารรับประทานเองเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ขณะที่ต่างประเทศที่ทยอยล็อกดาวน์ทำให้มีการกักตุนอาหาร ซึ่งไทยก็จะมีโอกาสในการเข้าไปทำตลาดทดแทนในส่วนนี้ได้มากขึ้นเช่นกัน
“ผมคิดว่าคนไทยโชคดีที่มีอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ปศุสัตว์ ประมงที่เข้มแข็งประเทศหนึ่งของโลก และคนไทยจะมีอาหารอย่างเพียงพอแน่นอน แต่ก็ต้องบริหารจัดการให้ดีด้วยอย่ากักตุนเกินจำเป็นและต้องมองระยะยาวเพื่อทำให้ภาคเกษตรไทยเข้มแข็งกว่านี้ให้ประโยชน์นั้นตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยการผลักดันไปสู่เกษตรปลอดภัย เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ไร้สารตกค้าง” นายศักดิ์ชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามคือภาวะภัยแล้งในปีนี้ว่าจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ซึ่งเบื้องต้นที่เริ่มมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลงหากฝนไม่มากต่อเนื่องยอมรับว่าจะส่งผลกระทบให้ภาคการผลิตในสินค้าเกษตรภาพรวมลดลงไปราว 20-30% จากปีก่อน ดังนั้น เรื่องการวางแผนระบบน้ำและนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย แม้ที่ผ่านมาทุกฝ่ายตระหนักดีว่าภาคเกษตรนั้นเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยแต่ยังคงตื่นตัวไม่มากที่จะวางระบบบริหารจัดการที่เป็นระยะยาวและก่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้นจึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางยุทธศาสตร์แห่งชาติให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้น กลาง และยาว