ไทยออยล์วางศิลาฤกษ์โครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่า 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าแล้วเสร็จ ปี 66 พร้อมต่อยอดสู่ปิโตรเคมี นับเป็นการลงทุนภาคเอกชนขนาดใหญ่โครงการแรกในอีอีซี ช่วยดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในอาเซียน
วันนี้ (5 มี.ค.) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ณ โรงกลั่นไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการ CFP ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่น ด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นสามารถเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้นร้อยละ 40-50 สามารถเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลซึ่งมีราคาสูงกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตอบสนองการปรับเปลี่ยนของตลาดซึ่งอิงกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาในการเดินเรือในปี 2563 รวมถึงการผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลมาตรฐานยูโร 5 เพื่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี
โครงการ CFP ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566 โครงการนี้จะส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี( EBITDA) เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (Gross Integrated Margin : GIM) เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
“โครงการ CFP จัดเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนโครงการแรกภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการ CFP จัดเป็นโครงการภาคเอกชนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดโครงการหนึ่งของประเทศ ก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงมากกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยวงเงินในการจ้างงานประมาณ 22,000 ล้านบาท หรือกว่า 20,000 คนในช่วงก่อสร้าง และวงเงินในการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ประมาณ 18,000 ล้านบาท”
นอกจากนี้ โครงการ CFP ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการต่อยอดสายห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี โดยใช้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ Light Naptha และ Heavy Naphtha ของโครงการ CFP เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการปิโตรเคมีระดับ World Scale ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่น (New S-Curve)
ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการ CFP มีความคืบหน้าประมาณ 29% โดยการออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้น งานสั่งซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักรหลักที่ใช้ระยะเวลาจัดส่งนานได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมโดยละเอียด รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่และงานวางฐานรากเพื่อรองรับงานติดตั้งโครงสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์
นายวิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ใน 5 ปีนี้ (63-67) บริษัทฯจะใช้เงินลงทุนราว 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ CFP ซึ่งปี 63 จะใช้เงินลงทุนราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับลงทุนในโครงการ CFP ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 31% คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จไตรมาส1/66
ส่วนภาพรวมอัตราการใช้กำลังการกลั่นในปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 110% จากปีก่อนอยู่ในระดับ 100% และอัตราการใช้กำลังการผลิตปิโตรเคมี คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีก่อนที่อยู่ระดับ 80% เนื่องจากปีก่อนที่มีการหยุดซ่อมบำรุง โดยคาดว่ามาร์จิ้นอะโรเมติกส์จะปรับตัวดีขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนทิศทางค่าการกลั่น (GRM) คาดว่าจะดีกว่าปี 62 ที่เฉลี่ยอยู่ในระดับ 3-4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าครึ่งปี63 ค่าการกลั่นจะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาส2/2563 ส่งผลให้ราคาน้ำมันและความต้องการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการกลั่นน้ำมันกำมะถันต่ำตามมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO)
อย่างไรก็ตามจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันลดลงโดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานปรับตัวลดลงในช่วงเดือนก.พ.63 มีส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยานเทียบกับน้ำมันดิบลดลงอยู่ 6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากในระดับ 16-18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นในเดือน มี.ค.-เม.ย.63 บริษัทจึงจะปรับสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยานลดลงจาก 23% เหลือ 13-15% แล้วเพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันดีเซลเป็น 43-45% เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบอยู่ในระดับ 8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล