xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยออยล์” เดินหน้าโครงการพลังงานสะอาด ทุ่มเกือบ 5 พันล้านเหรียญฯ ขยายกำลังการกลั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - “ไทยออยล์” ปักธงโครงการพลังงานสะอาด (CFP) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ขยายกำลังการกลั่นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใต้งบลงทุนเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 
วันนี้ (5 มี.ค.) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขยายกำลังการกลั่น ณ โรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งคณะผู้บริหาร บมจ.ไทยออยล์ เข้าร่วม ณ โรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
 
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า "ไทยออยล์ ลงทุนพัฒนาโครงการ CFP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่นด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) และสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นสามารถเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้นร้อยละ 40-50
 
และยังเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตา ให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเชลซึ่งมีราคาสูงกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตอบสนองการปรับเปลี่ยนของตลาดที่อิงกับกฎระเบียบซึ่งเปลี่ยนแปลงไป เช่น การลดปริมาณการใช้น้ำมันตาในการเดินเรือในปี 2563 รวมถึงการผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลมาตรฐานยูโร 5 เพื่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี
 
ทั้งนี้ โครงการ CFP ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566
 
“โครงการนี้จะทำให้บริษัทฯ มี EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (Gross Integrated Margin : GIM) หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล" นายวิรัตน์ กล่าว 
 
สำหรับโครงการ CFP ถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนโครงการแรกภายในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นโครงการเอกชนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดโครงการหนึ่งของประเทศ
 
ก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท และยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในระยะยาว

นายวิรัตน์ ยังเผยอีกว่า ในปี 2565 มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทย อาจต้องเริ่มนำเข้าน้ำมันอากาศยานจากความต้องการที่ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งโครงการ CFP ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถ ขยายธุรกิจโดยการต่อยอดสายห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี และใช้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ Light Naptha และ Heavy Naphtha ของโครงการ CFP เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการปิโตรเคมีระดับ World Scale เสริมสร้างศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่นๆ (New S Curve) ที่สอดคล้องต่อแนวโน้มในอนาคต

โดยขณะนี้การก่อสร้างโครงการ CFP มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 29% ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมมาตรการด้านความปลอดภัย ด้านความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมในการควบคุมการก่อสร้าง รวมถึงมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด ทั้งการควบคุมด้านฝุ่นละออง การควบคุมเศษวัสดุก่อสร้างและขยะ การบริหารงานจราจรในพื้นที่ ควบคุมเรื่องเสียงอีกด้วย ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเชิงรุกกับชุมชนและประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
 
ร่วมมือรัฐบาล ลดความเสี่ยงพนักงานติดเชื้อไวรัสโควิด-19
 
ขณะที่ นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ กล่าวถึงมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีมาตรการห้ามพนักงานเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือหากเดินทางไปแล้วได้มีการขอความร่วมมือให้กักตัวเอง 14 วัน
 
เช่นเดียวกับการจัดงานในช่วงเช้าที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิของผู้ที่เข้าร่วมงาน รวมทั้งติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวในทุกจุดของทุกออฟฟิศเพื่อลดความเสี่ยง
 
“ขณะที่ในเดือน เม.ย.ที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้น มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นมอบฉันทะให้กรรมการเข้าร่วมประชุมแทน เพื่อลดการรวมตัวของคนหมู่มาก ส่วนการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนที่มีคนเข้าร่วมเยอะก็ต้องเว้นไปเพื่อให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ในส่วนโครงการ CSR ต่างๆ จะยังคงดำเนินการตามปกติ และยังจะมีโครงการที่จะฉลองครบรอบ 60 ปี หลังจากที่การฉลองครบรอบ 50 ปี เราได้สร้างโรงพยาบาลให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นกิจกรรมที่ดูแลสังคมอย่างยั่งยืนด้วย” นายวิโรจน์ กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น