“ไทยออยล์” แย้มค่าการกลั่น ก.พ. 63 ขยับสูงขึ้นจากเดือนก่อน เหตุมีปัจจัยหนุนจากโรงกลั่นที่จีนปรับลดกำลังการผลิตลง จับตาโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ดีเซลลดลง
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า แนวโน้มมาร์จินของกลุ่มธุรกิจบริษัทฯ ในปี 2563 คาดว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น จากปีที่แล้วที่เผชิญกับส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ธุรกิจการกลั่นก็มีค่าการกลั่น (GRM) ก็อยู่ในระดับต่ำในช่วงไตรมาส 4/62 แต่หลังจากที่ผู้ประกอบการปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% มีผลตั้งแต่ต้นปีนี้ได้แล้วก็จะเริ่มเห็นค่าการกลั่นมีทิศทางที่ดีขึ้น
การกลั่น
โดยค่าการกลั่นที่สิงคโปร์ในช่วง ม.ค.ที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ต่ำช่วงติดลบ หรือกว่า 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำต่อเนื่องจากไตรมาส 4/62 อย่างไรก็ตาม ค่าการกลั่นเร่งตัวขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. โบรกเกอร์มองว่าค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นมาที่ 4-5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในช่วงนี้มีปัจจัยหนุนระยะสั้นจากโรงกลั่นในจีน Sinopec, PetroChina ปรับลดกำลังการผลิตลงตามความต้องการใช้ในภาคการผลิตและขนส่งที่ชะลอตัว รวมทั้งผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานลดลง อาจทำให้จำกัดการปรับตัวขึ้นของค่าการกลั่น
สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ชัดเจน แม้จะเริ่มเห็นราคาน้ำมันปรับลดลงขณะนี้ แต่ธุรกิจของบริษัทฯ เกี่ยวข้องกับมาร์จินเป็นหลัก โดยในช่วงไตรมาส 1/63 การกลั่นน้ำมันก็ดำเนินการเต็มที่ โดยคาดว่าจะมีอัตราการกลั่นมากกว่า 110% ซึ่งเป็นภาวะปกติ
นายวิรัตน์กล่าวถึงแผนลงทุนในปี 63 ว่า ไทยออล์ลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่มีมูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องในไตรมาส 1/66 แต่การใช้เงินลงทุนจะมากที่สุดในปีนี้อย่างน้อย 6 หมื่นล้านบาท สำหรับลงทุนในโครงการดังกล่าว
ส่วนภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายกังวลต่อปริมาณน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกที่อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ของภาคอุตสาหกรรมนั้น บริษัทฯ ก็เริ่มปรับตัวด้วยการประหยัดน้ำ รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ตลอดจนการสร้างถังเพื่อรองรับการเก็บน้ำเพิ่มเติม รวมถึงมีการผลิตน้ำจากหน่วยกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดเพื่อผลิตน้ำใช้เอง พร้อมกันนี้ยังเริ่มมองหาแหล่งน้ำจากภายนอกด้วยการเช่าบ่อเก็บน้ำ ซึ่งหากจำเป็นก็สามารถนำน้ำจากภายนอกเข้ามาเสริมได้ เชื่อว่าสามารถรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ได้