กลุ่ม ปตท.อัดงบ 5 ปี 2 แสนล้าน ลุยลงทุนพลังงานสะอาดในไทย พร้อมกระทุ้งรัฐวางแผนรับมือปัญหาน้ำในระยะยาว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.มีแผนลงทุน 5 ปี (2563-2567) ราว 2 แสนล้านบาท จะเน้นพลังงานสะอาด อาทิ โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นของ บมจ.ไทยออยล์ ที่จะอัปเกรดน้ำมันเตาเป็นน้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันดีเซล ขณะที่ ปตท.ก็ดำเนินการสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ และคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของเชื้อเพลิงรองรับการใช้ผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม โครงการหน่วยแยกอากาศ โดยใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องทั้งโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 และยังรอความชัดเจนการได้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เป็นต้น
รวมทั้งกลุ่มปิโตรเคมีในกลุ่ม ปตท.ก็มีการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพและใช้ประโยชน์ได้นาน เป็นเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษมากขึ้น ตามเทรนด์กระแสโลกหันมาเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ยังส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยให้ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ไปลงทุนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาคลังสินค้า, โรงงาน หรือสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงการส่งเสริมให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ต้องการให้กระทรวงพลังงานเร่งเจรจากับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้เกิดการขายไฟฟ้าเฉพาะพื้นที่เพื่อรองรับการขายไฟฟ้าให้กับรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
“เงินลงทุนดังกล่าวอยู่ในแผนลงทุน 5 ปีของกลุ่ม ปตท.อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน การลงทุนเฉพาะของ ปตท.ยังจัดงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกราว 2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การลงทุนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล, การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เป็นต้น”
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นและอาจจะส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศนั้น แม้ว่าในระยะสั้นปีนี้เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมน่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ เพราะว่ามีการเชื่อมท่อเพื่อรองรับการผันน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.จันทบุรี มาให้ จ.ระยอง ในเบื้องต้น แต่ในระยะยาวเห็นว่าควรจะเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อให้เอกชนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในระยะยาว โดยที่ภาครัฐต้องสนับสนุนด้วย