xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจสดใส! ยอดใช้ดีเซลหน้าปั๊ม มี.ค.พุ่งสุดเป็นประวัติการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมธุรกิจพลังงาน” เผยยอดการใช้น้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมันแตะ 68.914 ล้านลิตรต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยสดใส ดันยอดใช้น้ำมันไตรมาสแรกทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลโต 4.7% และ 3.9% ตามลำดับ ทำใจปั๊มน้ำมัน ก๊าซฯ เมืองชั้นในใน กทม.เริ่มไม่เห็น เหตุนำที่ขายทำคอนโดฯ พุ่ง ผู้ค้าหนีไปทำปั๊มพื้นที่ชั้นนอกแทน

นางอุษา ผ่องลักษณา รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค. 2561 ยอดการใช้น้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการ (ปั๊ม) อยู่ที่ 68.914 ล้านลิตรต่อวัน ถือเป็นสถิติการใช้น้ำมันดีเซลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากมีการเติบโตของจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจไทยที่เติบโตจากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ส่งผลให้การใช้น้ำมันภาพรวมไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 61) กลุ่มเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นโดยกลุ่มเบนซินใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 30.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.7% และน้ำมันดีเซล (บี 7) 67 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.9%

“น้ำมันดีเซลหน้าปั๊มเดือน มี.ค. 61 มีการใช้สูงสุด ในที่นี้ไม่รวมน้ำมันดีเซลพื้นฐานที่มีการใช้ลดลงที่เดือนมี.ค. 61 อยู่ที่ 1.287 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับ มี.ค. 60 ที่การใช้อยู่ที่ 1.81 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากน้ำมันกลุ่มนี้จะใช้เฉพาะกับอุตสาหกรรม และเรือเดินสมุทรที่หันไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นที่ราคาถูกแทน” นางอุษากล่าว

สำหรับการใช้แอลพีจีไตรมาสแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 17.8 ล้าน กก.ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 9.5% เป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ทุกภาคยกเว้นภาคขนส่ง ที่มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 ล้าน กก.ต่อวัน คิดเป็นอัตราลดลง 10.8% ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ไตรมาสแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 ล้าน กก.ต่อวัน ลดลงจากปีก่อนคิดเป็น 8.3% เนื่องจากรถยนต์เริ่มหันไปใช้น้ำมันที่ราคาถูกช่วงที่ผ่านมาแทนประกอบกับราคาแอลพีจีลอยตัวทำให้รถยนต์จดทะเบียนใหม่ที่จะใช้ NGV ไตรมาสแรกก็ลดลง 3.1% จากช่วงที่ผ่านมา

นางอุษากล่าวถึงสถานการณ์ปั๊มน้ำมันและแอลพีจีในพื้นที่เมืองชั้นใน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ขณะนี้มีแนวโน้มจะลดต่ำลงเนื่องจากมีการปิดบริการและนำพื้นที่ไปขายซึ่งได้ราคาสูงเพื่อทำคอนโดมิเนียมแทน เมื่อหารือกับผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ก็ยังไม่พร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการติดตั้งปั๊มในคอนโดมิเนียมเพราะยังมีระเบียบต่างๆ ที่ยังต้องรอความชัดเจน โดยมุ่งเน้นที่จะขยายปั๊มไปยังพื้นที่ชั้นนอกแทนที่ยังพอหาพื้นที่เช่าหรือซื้อได้

“จากการหารือกับผู้ค้าน้ำมันที่มองว่าไทยยังคงไม่ถึงขั้นกับต่างประเทศที่การทำปั๊มน้ำมันจะต้องไปอยู่ในคอนโดมิเนียม และเป็นปั๊มขนาดเล็กๆ บริการตนเอง เพราะยังพอมีพื้นที่ชั้นนอกที่ยังทำได้ ธพ.เองจึงยังไม่ได้ออกระเบียบมารองรับเป็นการเฉพาะในเรื่องนี้ ขณะที่ปั๊ม LPG ภาคขนส่งเริ่มปรับตัวมาจับมือกับค่ายน้ำมันจำหน่ายน้ำมันและเปิดร้านสะดวกซื้อเพื่อที่จะให้อยู่รอดมากขึ้นทำให้การปิดตัวอาจจะเริ่มชะลอตัวลง” นางอุษากล่าว

ปัจจุบัน ปั๊มแอลพีจีไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 2,082 แห่ง ลดลง 11 แห่ง เทียบกับไตรมาสแรกปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,093 แห่ง ขณะที่สถานีปั๊ม NGV ไตรมาสแรกปี 61 มี 461 แห่ง ลดลง 1 แห่งจากไตรมาสแรกปี 61 โดยในเขต กทม.ไตรมาสแรกปีนี้มีปั๊มทุกประเภทรวมกัน 900 แห่ง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 60 ที่มีทั้งสิ้น 889 แห่ง โดยเป็นการขอปิด 18 แห่งซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นใน กทม. และขอเปิดเพิ่มขึ้น 20 แห่งในพื้นที่ชั้นนอก


กำลังโหลดความคิดเห็น