“พาณิชย์” เตรียมส่งรถคาราวาน 111 คันออกขายหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ ดีเดย์ 5 มี.ค.นี้ หวังให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด พร้อมเร่งกระจายผ่านร้านธงฟ้า 7-11 มินิ บิ๊กซี โลตัส เอ็กซ์เพรส ล่าสุดเพิ่มแฟมิลี่มาร์ท วอนประชาชนซื้อเท่าที่จำเป็น อย่ากักตุน เหตุยิ่งซ้ำเติมปัญหาขาดแคลน ตั้งแท่นเอาผิด “ลาซาด้า-ช้อปปี้-เจดี เซ็นทรัล” ปล่อยให้ขายออนไลน์ราคาแพงเอาเปรียบประชาชน ย้ำทางเฟซบุ๊กตามจับตลอด
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมฯ จัดรถคาราวานออกจำหน่ายหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ รวม 111 คัน แยกเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 21 คัน และในต่างจังหวัด 90 คัน ซึ่งถือเป็นช่องทางใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยราคาแพง และหาซื้อยาก โดยรถแต่ละคันจะมีหน้ากากอนามัยประมาณ 1 หมื่นชิ้น หมุนเวียนออกจำหน่ายให้ทั่วถึงแต่ละชุมชน จำหน่ายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพก แพกละ 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 2.50 บาท หรือแพกละ 10 บาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 5 มี.ค. 2563 นี้ และก่อนที่จะออกไปในแต่ละชุมชนจะแจ้งรายละเอียดผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ ก่อนที่จะออกเดินทางด้วย เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวรอซื้อ
ส่วนการกระจายหน้ากากอนามัยช่องทางอื่นๆ ที่กรมฯ ได้รับมาวันละ 6 แสนชิ้น ยังคงดำเนินการเหมือนเดิม คือ จำนวน 3.5 แสนชิ้นกระจายไปให้องค์การเภสัชกรรม 2 แสนชิ้น และอีก 1.5 แสนชิ้น กรมฯ ได้ประสานผู้ผลิตให้กระจายโรงพยาบาลโดยตรง คงเหลือ 2.5 แสนชิ้นจะกระจายให้สมาคมร้านขายยาที่มีสมาชิก 3 พันราย วันละ 2.5 หมื่นชิ้น การบินไทยวันละ 1.8 หมื่นชิ้น ที่เหลือจะกระจายผ่านร้านธงฟ้า เซเว่นอีเลฟเว่น มินิ บิ๊กซี โลตัส เอ็กซ์เพรส และล่าสุดได้เพิ่มแฟมิลี่มาร์ทเข้ามาอีก โดยจำกัดการซื้อคนละ 1 แพก 4 ชิ้น ราคา 10 บาทเช่นเดียวกัน ซึ่งกรมฯ อยากจะขอความร่วมมือประชาชนต้องยึดหลัก “เทใจให้กัน แบ่งปันกันใช้” เพราะหากซื้อเยอะ เวียนซื้อ หรือซื้อไปกักตุน จะทำให้คนข้างหลังไม่ได้ซื้อ ขอให้ซื้อแต่พอใช้ เพราะความจริงในปัจจุบันความต้องการเพิ่มขึ้นมาก
“กรมฯ ยืนยันว่าหน้ากากอนามัยที่ได้รับจัดสรรมาไม่มีหลุดออกไปจำหน่ายในช่องทางอื่นๆ ยกเว้นตามช่องทางที่กำหนด และในส่วนของโรงงานที่ยังมีหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้วันละ 7.5 แสนชิ้น จากกำลังผลิตรวมต่อวัน 1.35 ล้านชิ้น แบ่งให้กรมฯ 6 แสนชิ้น เหลือ 7.5 แสนชิ้น ทราบว่ามีการกระจายตามช่องทางการค้าปกติ แต่ไม่รู้ว่าโรงงานบริหารจัดการอย่างไร กระจายไปที่ไหนบ้าง ซึ่งนายจุรินทร์ได้สั่งการให้เชิญโรงงานผู้ผลิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาลรัฐ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน มาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและกระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึงแล้ว ซึ่งต้องรอผลการประชุมก่อน” นายวิชัยกล่าว
นอกจากนี้ กรมฯ กำลังหาช่องทางเอาผิดตามกฎหมายต่อแพลตฟอร์มค้าออนไลน์ ที่เคยมาร่วมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ทั้งลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล ที่เคยรับปากจะช่วยดูแลการจำหน่ายหน้ากากอนามัยบนแพลตฟอร์มไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร แต่ทุกวันนี้ยังมีการเปิดให้คนเข้ามาขายสินค้าแพง เอาเปรียบประชาชน ก็ต้องถือว่ามีความผิดด้วย ส่วนการจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก กรมฯ ได้ทำการตรวจสอบ และตามหาตัวผู้กระทำผิดโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าตามตัวได้ยาก แต่กรมฯ ก็จะตามให้ถึงที่สุด และขอความร่วมมือให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสผ่านสายด่วน 1569 โดยต้องมีรายละเอียดให้เจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ล่าสุดกรมฯ ได้จับกุมผู้ที่ค้ากำไรเกินควรแล้ว 51 ราย มีทั้งผู้ค้าทั่วไปและค้าออนไลน์ โดยส่งดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จำนวน 31 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท และผิดมาตรา 28 ในเรื่องปิดป้ายแสดงราคา 20 ราย มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท