กรมการค้าต่างประเทศดีเดย์เปิดใช้งานระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองรูปแบบใหม่วันที่ 31 มี.ค.นี้ มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ส่งออกไทยในการส่งสินค้าไปขายในอาเซียน
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเปิดใช้งานระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง “ASEAN Wide Self-Certification” หรือ AWSC ในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ที่จะถึงนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการใช้สิทธิส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย โดยขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการร่างประกาศฉบับใหม่เพื่อรองรับการใช้งานระบบ AWSC ดังกล่าวแล้ว
ระบบ AWSC สามารถใช้สิทธิในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนได้ครบทุกประเทศ และศุลกากรประเทศผู้นำเข้าให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเช่นเดียวกับ Form D โดยระบบ AWSC มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์วิธีการการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในประเด็นต่างๆ ได้แก่ 1. คุณสมบัติของผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรอง (Certified Exporter) โดยให้สิทธิทั้งผู้ส่งออก (Exporter) และผู้ผลิตสินค้าที่ส่งออก (Manufacturer) 2. จำนวนผู้มีอำนาจลงนามในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Authorized Signatories) สามารถแจ้งได้สูงสุดจำนวน 10 คน 3. ปรับปรุงแก้ไขคำรับรองในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 4. สามารถระบุคำรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าลงในเอกสารทางการค้าต่างๆ ได้ เช่น ใบกำกับสินค้า (Commercial Invoice) หรือใบรายการหีบห่อสินค้า (Packing List) เป็นต้น ตลอดจนสามารถดำเนินการส่งออกแบบ Third Invoicing และแบบ Back to Back
“การนำระบบ AWSC มาใช้เนื่องจากสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง โดยได้รวมโครงการนำร่องที่ 1 และโครงการนำร่องที่ 2 เข้าด้วยกันเป็น “ASEAN Wide Self-Certification : AWSC” ซึ่งภายหลังที่ AWSC บังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้โครงการนำร่องที่ 1 และโครงการนำร่องที่ 2 สิ้นสุดลง”
ทั้งนี้ ผู้ขึ้นทะเบียนภายใต้โครงการนำร่องที่ 1 และโครงการนำร่องที่ 2 รวมถึงผู้ประกอบรายใหม่ที่ประสงค์จะเข้าระบบ AWSC จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็น Certified Exporter เพื่อขอรับหมายเลขประจำตัวผู้ส่งออก (Certified Exporter Authorisation code) กับกรมฯ โดยหมายเลขทะเบียนประจำตัวผู้ส่งออกมีอายุ 2 ปี และสามารถต่ออายุได้ครั้งละ 2 ปี