“พาณิชย์” เร่งแก้ปัญหาการส่งออกไปยังอาเซียน 5 ประเทศ หลังระบบ e-Form D ยังมีข้อติดขัด เชื่อมข้อมูลออนไลน์กันไม่ได้ นัดหารือแก้ปัญหาอีกครั้ง มิ.ย. นี้ พร้อมดันอาเซียนพัฒนาระบบให้สามารถแก้ไข หรือยกเลิก e-Form D ได้ และมีแผนเสนอให้คู่ค้า FTA พัฒนาใช้หนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทย เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบพบปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับระบบการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ที่สมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และ เวียดนาม ที่ได้นำร่องใช้ระบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 โดยมีปัญหาการใช้งานจากการวางเงื่อนไขระบบที่ไม่สอดคล้องกับกฎข้อบังคับตามระเบียบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (OCP) ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ทำให้เกิดปัญหาในการขอใช้สิทธิทางภาษี จึงต้องมีการปรับปรุงให้ระบบสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์
“การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดประชุมร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า กับคณะทำงานด้านเทคนิคของอาเซียน ซึ่งดูแลเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนแล้ว โดยพบว่าปัญหาว่าสมาชิกอาเซียนบางรายไม่ได้พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยน e-Form D ตามเงื่อนไขที่ได้ทำการทดสอบและตกลงร่วมกัน และจะมีการหารือกันอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 2561 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และในระหว่างนี้ เพื่อไม่ให้การส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ จะมีการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดแบบกระดาษควบคู่กับ e-Form D ไปก่อน”
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจะผลักดันให้อาเซียนพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้มากขึ้น เช่น การแก้ปัญหาความไม่สะดวกและล่าช้าในการแก้ไขหรือยกเลิก e-Form D โดยจะปรับปรุงระบบให้สามารถแก้ไขหรือยกเลิก e-Form D ได้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน มิ.ย. นี้ พิจารณา
ขณะเดียวกัน มีแผนที่จะส่งเสริมให้เรื่องการใช้หนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์รวมอยู่ในความตกลงการค้าเสรี ที่อยู่ในการเจรจาหรือที่มีการทบทวน รวมทั้งจะผลักดันให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ WTO (TFA) เพื่อสร้างความโปร่งใส ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และทำให้กระบวนการของประเทศไทยในการนำเข้า - ส่งออก และการผ่านแดนของสินค้ามีความเรียบง่าย ซึ่งจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของไทย ให้เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนยิ่งขึ้น