กรมการค้าต่างประเทศเผยผู้ส่งออกแห่ร่วมสัมมนาการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองอย่างล้นหลามกว่า 400 คน เพื่อเรียนรู้การคำนวณต้นทุน และเตรียมพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าหากมีการขอตรวจสอบ ระบุยังได้แจ้งให้เตรียมความพร้อม หลังจะออกประกาศเพื่อรองรับระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองรูปแบบใหม่ วันที่ 31 มี.ค.นี้
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมากรมฯ ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “เพิ่มขีดความสามารถการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification)” ณ จังหวัดระยอง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกในการใช้สิทธิประโยชน์จากการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างล้นหลามกว่า 400 คน เช่น ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ตัวแทนส่งออก-นำเข้าสินค้า หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นต้น
“การสัมมนาในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อติวเข้มให้ผู้ส่งออกได้รับความรู้เพิ่มเติมด้านการคำนวณต้นทุนเพื่อพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้า (ROVERs) สำหรับใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับประเทศปลายทาง และยังเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า เมื่อศุลกากรประเทศปลายทางขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าที่ส่งออกไปย้อนหลัง (Post Verification)”
ทั้งนี้ ยังได้เปิดคลินิกถาม-ตอบเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกที่มีข้อสงสัยสามารถซักถามหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ส่งออกอย่างลึกซึ้งมากขึ้น
นายกีรติกล่าวว่า กรมฯ เตรียมออกประกาศเพื่อรองรับการใช้งานระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN Wide Self-Certification : AWSC) โดยผู้ส่งออกสามารถเตรียมการเพื่อขึ้นทะเบียนระบบดังกล่าวก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 31 มี.ค. 2563 ซึ่งภายหลังที่ AWSC บังคับใช้แล้วจะส่งผลให้โครงการนำร่องที่ 1 และโครงการนำร่องที่ 2 สิ้นสุดลง
ประกาศกรมฯ ฉบับใหม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องคุณสมบัติผู้ขอขึ้นทะเบียน เอกสารยื่นขอขึ้นทะเบียน การระบุลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง การให้สิทธิการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ากรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม (Third Country Invoicing) และการรับรองนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศหนึ่งแล้วส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอีกประเทศหนึ่ง (Back to Back) ซึ่งการใช้ระบบ AWSC ดังกล่าวผู้ส่งออกจะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าเช่นเดียวกับการใช้ Form D แต่ระบบ AWSC จะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถลดขั้นตอนการส่งออก เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และลดภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกสินค้าไปยังอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีแผนที่จะจัดสัมมนาให้ความรู้เพื่อส่งเสริมการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. 2563 ณ จังหวัดนครปฐม ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โทร. 0-2547-4808 และ 0-2547-5132 หรือเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th และสายด่วน 1385